วันพุธที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2557

Book Review: Ohayo Japan สวัสดีญี่ปุ่น

ชื่อหนังสือ   Ohayo Japan สวัสดีญี่ปุ่น

ผู้แต่ง :  พงคุง ณ กรุงโตเกียว

ผู้แนะนำ: Nok-san



 เชื่อว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศในฝันของใครต่อใครที่อยากจะไปเที่ยวให้ได้สักครั้งในชีวิต ฉันก็เป็น 1 ในคนเหล่านั้นที่พยายามทำตามความฝัน แต่เนื่องจากการไปเที่ยวญี่ปุ่น ค่าใช้จ่ายสูงมากเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน ฉันเลยพยายามสอบทุนอบรมระยะสั้นจนสำเร็จจนได้ไปตามรอยซากุระเป็นเวลา 2 เดือน โดยแทบไม่ออกค่าใช้จ่ายใดๆ

การที่เคยอยู่ญี่ปุ่นมาก่อนทำให้เมื่อได้มาอ่านหนังสือ How To เรื่อง Ohayo Japan สวัสดีญี่ปุ่น ซึ่งเขียนจากประสบการณ์ของนักเรียนไทยในญี่ปุ่น ส่งผลให้ก่อนอ่านฉันเคลือบแคลงเล็กน้อยว่าสิ่งที่รู้มาตอนอยู่ญี่ปุ่นกับสิ่งที่ผู้เขียนเขียนถึงญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะทำให้การอ่านเรื่องญี่ปุ่นครั้งนี้ดูจืดชืดหรือเปล่า

หนังสือเล่มนี้โปรยปกเอาไว้ว่าเป็น 65 วิธีที่จะทำให้คุณใช้ชีวิตอยู่ในประเทศญี่ปุ่นแบบสบาย สบาย ฉันเห็นด้วยเป็นอย่างมาก  ฉันพบว่าหากใครได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วนึกภาพตาม (โดยเฉพาะคนที่เคยไปญี่ปุ่น)จะขำไปกับคำแนะนำทั้ง 65 วิธีของผู้เขียนซึ่งทั้งจิกกัดสังคมญี่ปุ่นและสังคมไทย (เอ๊ะ ยังไง) หากผู้อ่านอ่านอย่างพิเคราะห์จะเห็นหลายอย่างที่บ้านเราควรเอาเป็นแบบอย่าง ในขณะที่บางครั้งเราก็จะรู้สึกร่วมไปกับผู้เขียนว่าสังคมไทยช่างน่าอยู่กว่าญี่ปุ่นมากนัก

หนังสือเล่มนี้ยังเหมาะกับผู้ที่ต้องการเที่ยวญี่ปุ่นอย่างรู้เขา รู้เรา เป็นนักท่องเที่ยวที่รู้มารยาทสากล อย่างที่เห็นๆจากข่าวที่ผ่านมาว่าคนไทยยี้นักท่องเที่ยวบางกลุ่มที่เข้าประเทศไทยและไม่เคารพต่อสถานที่และผู้คน ดังที่เป็นข่าวอยู่เนืองๆ ดังนั้นหากก่อนไปญี่ปุ่นได้มีโอกาสอ่านเล่มนี้ จะทำให้การไปญี่ปุ่นเป็นเรื่องสบาย สบาย อย่างที่ผู้เขียนอ้างถึงแน่นอน

ขอยกตัวอย่างน่ารักๆจากเรื่อง เช่น การปั่นจักรยาน ฉันรู้สึกร่วมไปกับเรื่องนี้เพราะเพิ่งรู้ตอนไปอยู่ที่นั่นว่ามีกฎหมายห้ามซ้อนท้าย (เอ่อ...รวมทั้งซ้อนหน้าด้วยนะคะ เดี๋ยวคนไทยบางคนจะมีข้ออ้าง) เคยสอบถามเพื่อนญี่ปุ่นเค้าบอกว่าจักรยานถูกสร้างมาสำหรับคนๆเดียวปั่น เรื่องนี้ช่างตรงกันข้ามกับเมืองไทยที่การปั่นจักรยานซ้อนท้ายโดยเฉพาะกับคนรักเป็นเรื่องโรแมนติก แต่เพื่อนชาวญี่ปุ่นของฉันนึกเรื่องนี้ไม่ออก  ฮ่าๆ

การหาถังขยะในญี่ปุ่นช่างเป็นเรื่องยากเย็น อันเกิดจากความคิดที่ว่าคนสร้างขยะต้องรับผิดชอบ ต้องเอาไปทิ้งที่บ้านหากหาถังขยะในบริเวณนั้นไม่เจอ สิ่งนี้ทำให้ฉันเห็นด้วยกับผู้เขียนและนึกถึงความพยายามลดขยะ หากเราลำบากในการหาที่ทิ้ง เราก็จะพยายามไม่สร้างขยะ ในขณะที่หากเป็นสังคมบ้านเรา เมื่อไม่เห็นถังขยะก็มีข้ออ้างในการทิ้งเกลื่อนกลาด บางคนอาจโทษสถานที่นั้นๆว่ามีถังขยะไม่พอเพียง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งๆที่ถังขยะหาได้ทั่วไปในประเทศไทยๆก็ยังมีปัญหาการทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทางเพราะอะไร

คนญี่ปุ่นเดินเร็วมาก และชอบการเดิน ที่น่าแปลกสำหรับฉันคือแม้แต่สระว่ายน้ำที่ประเทศนี้ก็มีลู่ให้เดิน !
(จะเดินกันไปถึงไหน) โดยสระว่ายน้ำของโรงแรมที่ฉันเคยไปใช้บริการแบ่งลู่ออกเป็นลู่ว่ายน้ำและลู่เดิน ที่ลู่เดินคนที่จะว่ายน้ำก็จะไปว่ายน้ำไม่ได้ ต้องเดินเท่านั้น ฉันว่าวัฒนธรรมการเดินของพวกเขาฝังรากลงไปในทุกกิจกรรมที่พวกเขาทำ (การเดินถือเป็นการออกกำลังกายในน้ำสำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว หรือผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องหัวเข่า การออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกตรงหัวเข่าอีกด้วย)

ฉันขอสรุปว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะทั้งอ่านเอาฮาและเอาสาระ หากได้อ่านมีสิทธิวางไม่ลง รู้ตัวอีกที อ่านจบเล่มไปแล้วในรวดเดียวก็เป็นได้ค่ะ!

2 ความคิดเห็น:

  1. รู้สึกว่า อ. จะเอารีวิวมาแต่อะไรที่ตัวเองสนใจนะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. นั่นคือหลักการreview (โดยเฉพาะของเรา) นะ เพราะว่าการอ่านเรื่องที่ตัวเองสนใจ จะทำให้มีประเด็นที่จะเขียนและรู้สึกร่วมไปกับมันจ๊ะ

      ลบ