วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2556

น้ำใจงามๆที่โสสะ





หลังจากที่สัปดาห์ก่อนโทรไปสอบถามน้องแจ๋ว ว่าเด็กๆที่โสสะมีกิจกรรมอะไรบ้างรึเปล่า แจ๋วบอกว่ามีทำบุญประจำหมู่บ้าน เราเลยไม่ได้เข้าไป

วันนี้ไปหาน้องๆที่โสสะพร้อมยะห์ (เอกอังกฤษ) และออย (เอกฟิสิกส์) เราไปหยิบนิทานจากห้องสมุดออกมาตั้งไว้ที่ลานกิจกรรมเพื่อให้น้องๆเลือกอ่าน คุณครูอนุบาลออกมาบอกว่าเดี๋ยวบริเวณนี้จะใช้เป็นทีตัดผมของเด็กๆผช. พวกเราเลยขยับพื้นที่ไปนั่งอ่านหนังสือ สอนการบ้านกันอยู่อีกฟาก  

สักพักคุณน้าผช.คนนึงมาเตรียมอุปกรณ์ตัดผม เราก็นึกว่าเป็นคุณน้าช่างตัดผมคนใหม่ (คนเดิมที่เราเคยเห็นคือน้าสม ซึ่งฟังจากแม่ประจำบ้านเล่าให้ฟังว่าน้าสมก็ตัดราคาถูก หากไปตัดที่ร้านน้าสม ราคาปกติคือ 40 บาท แต่มาตัดที่นี่ คิดหัวละแค่ 15 บาท ตอนนี้ลูกชายของน้าสมเรียนจบเภสัชแล้ว (เอ่อ ข้อมูลข้างหลังอาจไม่เกี่ยว เพีง
แค่อาจจะชวนให้นึกต่อได้ว่าอาชีพตัดผมและการทำบุญเสริมก็สามารถส่งเสียลูกชายให้เรียนสูงๆได้)



  ทีแรกเราคิดว่าน้าเค้าคงเป็นช่างตัดผม แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ คุณน้าทำงานที่วิทยาลัยออมสินใกล้ๆ นึกชื่นชมคุณน้าที่สละเวลามาตัดผมให้เด็กๆ คุณน้าตัดผมอย่างใจเย็นและปราณีตราวกับมืออาชีพแน่ะ จนเรา ยะห์ ออย เกือบตัดสินใจขอเป็นลูกค้าอีกคน  

หากเด็กๆไปตัดผมตามร้านต้องจ่ายหัวละ 40 บาท วันนี้คุณน้าตัดไปร่วม 20 คน ซึ่งนับว่าช่วยประหยัดรายจ่ายของโสสะไปได้หลายอยู่

คุณน้าบอกว่าอีก 15 วันจะเข้ามาใหม่ เพราะคงมีเด็กๆที่จำเป็นต้องตัดผมกลุ่มอื่น หรือคนที่เคยตัดไปแล้ว อาจจะผมยาวแล้ว โอ้ว!! มันทำให้เราเห็นถึงความใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆของคุณน้าที่มีต่อเด็กๆ

เรา(แอบ)นั่งมองคุณน้านิ่งๆอยู่พัก การได้เห็นคนดีๆทำดีโดยเฉพาะคนที่ไม่ได้รวย ทำให้เรารู้สึกว่าการทำดีของคุณน้าเป็นแรงบันดาลใจให้เรา

ช่วยๆกันหลายๆแรงเพื่อน้องๆโสสะจะได้รู้สึกถึงความใส่ใจของคนอื่นที่มีต่อพวกเค้า

------

น้องมังกรและไตเติ้ล

เราเพิ่งรู้ว่าทั้งคู่เป็นพี่น้องแท้ๆ มังกร คนพี่จะดูเรียบร้อยและตั้งใจเรียน ในขณะที่ไตเติ้ลมีนิสัยซนๆ วิ่งเล่น ป่วนไปทั่่วบริเวณ มังกรมีสมาธิกับการเขียนตามคำบอก และเขียนถูกทุกคำด้วยทั้งที่เพิ่งอยู่ ป.1



-------------
ขอบคุณยะห์และออยผู้ร่วมทริป

วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ครอบครัวตึ๋งหนืด& เคล็ดลับตึ๋งหนืด


หลังจากได้เริ่มอ่าน "ครอบครัวตึ๋งหนืด" เล่มแรกจบ เราก็หยุดตัวเองไม่ได้แล้ว ต้องหาเล่มต่อไปมาอ่านทั้งที่ห้องสมุดประชาชน ของน้องแบม และซื้อด้้วยตัวเอง ( อิๆ ผิดลักษณะตึ๋งหนืดจากในเล่มที่ควรจะจ่ายเงินให้น้อยที่สุด )




นับไปนับมาเราก็อ่านมาเกือบ 10 เล่มแล้ว แฮ่กๆ ได้แค่ครึ่งทาง เพราะ "ครอบครัวตึ๋งหนืด" มีถึงเล่มที่ 19 เข้าไปแล้ว โอ้ว!! 





เคล็ดลับจากเล่ม 18 ตอนตืดสุดฤทธิ์ ฟิตเกิน 100 เราได้วิธีทำความสะอาดมุ้งลวดมาด้วยล่ะ
นั่นคือ ฉีดน้ำที่มุ้งลวด ติดกระดาษนสพ. แล้วทิ้งไว้ 10 นาที มันก็จะดูดซับฝุ่นออกมา*  

ต้องลองทำสุดสัปดาห์นี้ซะแล้ว

เฮ้!! วิธีนอนหลับให้สนิทวิธีนี้ เราไม่เคยรู้เลย

กลิ่นหัวหอมช่วยให้รู้สึกง่วง และทำให้เลือดสูบฉีดดี (จริงๆเหรอ?) เค้าแนะนำว่าหากวันไหนนอนไม่หลับ ให้หั่นหัวหอมใหญ่บางๆวางที่หัวนอน*

อันนี้พอได้อ่านแล้วก็ยังอึ้งๆ ไว้ค่อยลองทำดู ที่บ้านต้องว่าเราทำอะไรพิเรนอีกแน่เลย (แบบว่าเค้าไม่ค่อยเชื่อถือว่ามันจะดีหากเราทำ 55)  

วิธีเสริมการนอนหลับของเราที่ทำอยู่บ้าง (หากไม่ลืม) คือการเอาดอกมะลิที่เก็บจากหน้าบ้านยายมาตั้งข้างที่นอน บางทีก็ใช้ดอกแก้วหน้าบ้านแทน เพื่อความสุนทรีย์ที่หลากหลาย :)



ที่น่าขำก็คือ ดอกแก้วมันร่วงง่าย ทำให้เมื่อวาน พอเราเด็ดมันตอนค่ำ แล้วปั่นจักรยานไปบ้านยาย พอไปถึงเหลือดอกเล็กๆอยู่ดอกเดียว ที่เหลือที่เราตั้งไว้ในตะกร้ารถจักรยานตกตามพื้นไปหมดแล้ว OMG

ว้า! อดโรแมนติกแบบ aroma therapy เลยเรา

ไหนๆก็จินตนาการไว้แล้วว่าต้องหลับสนิทเนื่องจากจะมีดอกแก้วไว้ดมระหว่างนอน เลยรีบเข้านอน และ(พยายาม)หลับโดยพลัน เพื่อให้ aroma therapy ที่ไม่มี ไปออกฤทธิ์ในฝันแทน :)


----------
* เครดิตให้กับ หนังสือครอบครัวตึ๋งหนืด เล่ม 18 ตืดสุดฤทธิ์ ฟิตเกิน 100 โดย Lee, Seung-Hee

วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2556

มุมหลุดๆของผู้ประสานงาน NUS (Buddy Program)



เก็บตกบทสนทนา






ณ ร้านกาแฟ ใกล้คลองทะเลน้อย กับ Haley (helper ชาวสิงคโปร์ประจำพื้นที่ทะเลน้อยซึ่งพูดไทยได้น่าจะดีมาก)

อ.นก:                                   "ชาเย็นไม่หวานค่ะป้า" (เหมือนจะเป็นคนรักสุขภาพนะเนี่ย)
Haley:                                  "ชาเย็นหวานมากๆครับ"
อ.นก (ซึ่งติดนิสัยความเป็นครู)      " Haley ชาเย็นหวานมากๆไม่ดีกับสุขภาพนะคะ"
Haley:                                  " ดีครับ"
อ.นก (ชักงง) :                       " ดียังไงคะ "
Haley:                                 "ดีที่อร่อยมากครับ"
อ.นก:                                    ???


----------------



บทสนทนาระหว่างการนั่งรถร่วมกับ อ.Alan (อ.ประจำสาขา Physical Geography ซึ่งพูดไทยได้ดีมากๆๆเนื่องจากมาทำวิจัยและอยู่เชียงใหม่มานาน)

Alan:         อ.นก คนไทยมีชื่อเล่นแปลกมากเลยนะ ชื่อมะม่วงก็มี (อ.จำได้ว่านิสิตรุ่นก่อนมีชื่อมะม่วง)
นก:           ใช่ค่ะ ชื่อผลไม้มีแทบทุกอย่าง
Alan:          แครอท ลางสาด มังคุด ละมุด มีมั๊ย
นก:            แครอทกับมังคุดมีค่ะ แต่ลางสาดกับละมุดไม่น่าจะมี (หรือมีแต่เราอาจจะยังไม่เคยได้ยิน)
Alan:          ฟักทองมีมั๊ย
นก:            ฟัก มีค่ะ (เคยมีละครชื่อ "ผู้พิพากษา" ตัวเอกคือ "ไอ้ฟัก")
Alan:          Fuck me?
นก:            (จ๊าก...เพิ่งรู้ตัวว่าพลาดไปแล้ว) อาจ๊ารย์... มีคนชื่อฟักค่ะ (เหงื่อตก)

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าต้องมีสติเวลาพูดกับฝรั่งที่รู้ภาษาไทยเยอะ

------------------------
อ.Alan (ภาค 2) ขับรถมาส่งเราที่มหาลัย มีผู้ร่วมทางคือ Nopy (ตัวประกอบฉาก)

นก:                   เด็กสิงคโปร์ชอบพูดคำว่า "ติ๊งต๊อง" นะคะ
Alan:                 ภาษาเหนือเรียกว่า "ซึงตึ๊ง"
นก:                   เหรอคะ อาจารย์ว่ามั๊ยคะ คนซึงตี๊งมักไม่ยอมรับว่าตัวเองซีงตึ้ง 
                       เวลาถูกถามว่าซึงตึ้งมั๊ยก็จะบอกว่า "ไม่"
Nopy:               แล้วนก "ซึงตี๊ง" มั๊ย
นก:                    (จึ๊ก!! เสียงธนูปักหน้าอก! แล้วเราจะตอบยังไงล่ะเนี่ย หากตอบไม่ ก็หมายความว่าเราเป็น 
                         น่ะสิ (คิดๆๆ)
                          เอ่อ...นกเป็นคนดูแลคนซึงตี๊งค่ะ    
Alan:                   ผมเป็นคนขับรถให้คนซึงตี๊ง   
Nopy:                 (ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว) งั้นผมก็เป็นคนซึงตี๊งน่ะสิ
นก:                     ถูกต้องแล้วค๊าบ (นึกในใจและนึกชมปฎิภาณของตัวเอง ซึ่งนานๆจะทันคนอื่นเค้าซักที :)

-------------------------------------   
    

Buddy Program 2013 : Why I run this program (part I)


โครงการ Buddy Program ระหว่างมหาวิทยาลัยทักษิณกับ National University of Singapore เป็นโครงการต่อเนื่องที่การเตรียมงานค่อนข้างเยอะ แต่ทุกครั้งที่มันจบลง มันเป็นหนึ่งกิจกรรมที่เราภูมิใจที่ได้เป็นคนหนึ่งที่ทำให้มันผ่านพ้นไปด้วยดี

ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้วสินะ

ครั้งแรกเมื่อปี 51 เรากับ May เพื่อนนิสัยดีของเราชาวสิงคโปร์ซึ่งสอนอยู่ที่ NUS ถามเราว่าสนใจจะทำโครงการร่วมกันมั๊ย ไหนๆเราก็สนิทกัน การทำงานร่วมกับเพื่อนสนิทน่าจะง่ายและมีอะไรก็น่าจะคุยกัน ปรึกษากันได้ง่าย เราเลยตกปากรับคำ แอบดีใจที่จะได้เห็นการทำงาน field studies ของภาคภูมิศาสตร์จาก NUS (เมย์เคยพาเราไปนั่งเรียนวิชาของ อ.Carl และเป็นครั้งที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราช่างมีความรู้หางอึ่งเกี่ยวกับเมืองไทย แถมประหลาดใจว่าทำไมคนต่างชาติถึงได้รู้จักเมืองไทยในเชิงลึกกว่าเราอีกเนี่ย ...ไม่ยอมนะ  อ.Carl เปิดหนังไทยเรื่อง "สาละวิน" ให้นศ.ในห้องดูและถกกันเรื่องการเลี้ยงช้างในไทย อันนี้ทำให้เราอายที่เราไม่ค่อยได้ดูหนังไทยโดยเฉพาะหนังชีวิต เมื่อข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึง NUS กลับมานั่งดูเรื่องราวไทยๆอย่างคนที่ไม่ค่อยรู้อะไรมาก อายนะเนี่ย)

เมย์จบปริญญาเอกด้านภูมิศาสตร์และเป็นผู้หญิงที่ถึกมากจริงๆ ทั้งการนำทีมนิสิตจำนวนร่วม 50 คนร่วมกับอาจารย์ Carl & ทีมงาน เพื่อมาเรียนรู้วิถีชีวิตที่ไทยใน 5 สัปดาห์ เร่ร่อนกันไปทุกถิ่นทั่วไทย เหนือ ใต้ ออก ตก การมีเพื่อนต่างชาติที่ active อยู่ตลอดเวลา ทำให้เราต้อง active ไปด้วยแฮะ

นิสัยของเรา 2 คนต่างกัน เมย์สูบบุหรี่และดื่มเหล้า สามารถเข้ากับชาวบ้านได้ง่ายมาก (สงสัยอันนี้เป็นบุคลิกของคนจบด้าน Human Geography ซึ่งต้องศึกษาวิถีชีวิตคนและอยู่ร่วมกับชุมชนให้ได้

เราเป็นคนถือศีล 5 (55:) ไม่แตะต้องเหล้ายาและบุหรี่ แต่พวกเราก็อยู่ร่วมกันได้เมื่อเปิดใจให้กว้างและมองข้ามบุคลิกภายนอกรวมทั้งความต่างของเรา

น่าแปลกที่เมื่อเมย์ต้องการหักดิบเลิกบุหรี่ เธอก็สามารถทำได้ง่ายดายเมื่อเธอคิดว่ามันถึงเวลา ทั้งที่สูบมาตั้งแต่อายุ 15 ปี ของแบบนี้มันอยู่ที่ใจจริงๆ นับถือๆ

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการมีเพื่อนดีๆจากสิงคโปร์ ทำให้เมื่อเป็นอาจารย์ เราอยากให้นิสิตได้รู้จักเพื่อนสิงคโปร์ เรียนรู้ความเป็นสิงคโปร์จากพวกเค้า และเลือกเอานิสัยดีๆของคนที่นั่นมาปรับใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพของตนเอง คนสิงคโปร์บางคนดูบุคลิกแข็งๆ แต่ภายใต้บุคลิกแบบนั้นเค้ามีความจริงใจมาก
คบใครคบนาน

----
กลับมาสู่โครงการครั้งที่ 3









ครั้งนี้เป็นครั้งที่การจัดการยากกว่าครั้งก่อนๆเนื่องจากต้องไปต่างจังหวัด ในขณะที่ครั้งก่อนจะทำกิจกรรมแค่สงขลา (ซึ่งเราจัดให้ดูวิถีชีวิตประมง สวนสมรม การทอผ้าที่เกาะยอ ในปีแรก ส่วนปีที่ 2 เพิ่มการไปดูวิถีตาลโตนดเข้ามาด้วยที่ ต.ท่าหิน สทิงพระ)

การจัดการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นทักษะที่จำเป็นมากเมื่อต้องมาเป็นผู้จัดกวน เอ๊ย ผู้จัดการค่าย เนื่องจากต้องดูแลทุกอย่าง เมื่อ Aj. Carl, Aj. Alan & Aj.James ยกให้เป็นหัวหน้าแก๊งค์ ให้อำนาจการจัดการและตัดสินใจ

ตัวพองๆได้ 2-3 นาทีเมื่อได้รับตำแหน่งใหญ่ยักษ์ขนาดนี้

อ๊ะ...มาคิดได้ว่าสงสัยอาจารย์ทั้งหลายมอบหมายงานหนักให้เราซะแล้ว 
อย่างไรก็ตามเราเคยร่วมงานกันมาก่อน และอาจารย์คาร์ลกับอลันก็เป็นคนใจดี 
เราก็จะได้เรียนรู้การทำงานสไตล์สิงคโปร์จากพวกเค้าในช่วงที่อยู่สงขลา-พัทลุง ด้วยกัน

เราเตรียมการตั้งแต่ก่อนปิดเทอมใหญ่ด้วยการพูดคุยกับนิสิตที่สมัครเพื่อให้เห็นภาพของกิจกรรมแบบ
กว้างๆ หลังจากนั้นให้นิสิตแบ่งกลุ่มทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงตารีกีปัส พิธีกร เกมส์ ร้อยพวงมาลัย ทำเกียรติบัตร และสกรีนเสื้อ (ขอบใจนิสิตทุกแรงแข็งขันมา ณ ที่นี้)

งานนี้ควรเป็นงานที่นิสิตได้มีส่วนร่วมและฝึกการทำงานให้รู้สึกว่าค่ายนี้เป็นผลงานของทุกคน

หลังจากนั้นพวกเราก็สร้าง FB page ชื่อว่า TSU & NUS Buddy Program 2013 เอาไว้แชร์ข้อมูลเรื่องพัทลุง เอาข้อมูลต่างๆที่หามาได้มาแลกเปลี่ยนกันเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนออกค่ายระหว่าง 18-22 มิย.56



นิสิตบางคนอาจคิดว่าการออกค่ายมันจะอะไรกันนักหนา ทำไมต้องเตรียมตัว เตรียมข้อมูลมากมาย
หลายคนอาจไม่ชิน เพราะปกติเอกอังกฤษไม่ค่อยได้ทำอะไรแบบนี้ เวลาไปทำกิจกรรมนอกสถานที่ก็แค่การถ่ายรูป(โดยเฉพาะรูปตัวเอง)  เก็บข้อมูลเล็กๆน้อยๆพอเป็นพิธี

หลายคนอาจรู้สึกว่าเราเข้มงวด และหลายคนไม่เคยเรียนวิชาที่เราสอน (อาจจะเป็นโชคดีของพวกเค้า อิๆ) ทำให้ไม่เข้าใจกระบวนการคิดและการทำงานของเรา แต่คนไหนที่เคยเรียนกับเราจะเคยเห็นสไตล์การทำงานของเรามาบ้างแล้ว 

บางคนเมื่อถูกสอบถามจากสต๊าฟสิงคโปร์บอกว่าเมื่อรู้ว่าเราเป็นผู้จัดโครงการนี้ก็ไม่อยากเข้าร่วมเนื่องจากเราเป็นคนดุและตรงมาก (เอ่อ...จริงๆแล้วก็พยายามจะเป็นคนใจดีอย่างอาจารย์แววและอาจารย์เจมส์นะ เนื่องจากลึกๆชอบคิดว่าตัวเองเป็นคนรักเด็ก รักสัตว์ รักธรรมชาติ อย่างนางสาวไทย :)

แต่หากใจดีแล้วงานไม่เดินหรือนิสิตไม่ active เราก็ขอเป็นคนดุจะดีกว่า เพื่อภาพรวมการทำงานของมหาวิทยาลัยและสาขาต่อสายตานิสิตและอาจารย์ NUS

นิสิตกับเรายังเจอกันอีก 2 ครั้งเมื่อเปิดเทอมเพื่อเตรียมงานและ present สิ่งที่ไปศึกษามา
 การขาดเรียนของนิสิตทั้งอาทิตย์ทำให้เราต้องวางแผนดีๆเพื่อให้พวกเขาเรียนรู้ได้มากที่สุดและเราคิดเอาเองว่านี่เป็นโอกาสในการเรียนรู้แค่ 1 ครั้งใน 4 ปีของพวกเค้าที่จะได้เรียนรู้เพื่อนต่างชาติ ชุมชน และฝึกการใช้ชีวิตในชนบท



อ.Carl, James พี่นพ พี่ซี กับเรามีประชุมเตรียมงาน 1 เดือนก่อนเริ่มงาน หลังจากนั้นก็ยังติดต่อทางอีเมลกันเรื่อยๆ เราลงพท.ไปดูสถานที่ทำกิจกรรม คุยกับลุงจรูญ (บ้านแหลมจองถนน) ลุงบูรณ์ (ตะโหมด) และคุยกับพี่เบ็ญ หัวหน้าอาศรมสุขภาวะ ของวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน พัทลุง (ไม่น่าเชื่อว่าเรารู้จักกับพี่เบ็ญมา 11 ปีแล้ว!) เพื่อคุยรายละเอียด กิจกรรม และงบประมาณ งานแต่ละอย่างการเก็บตกรายละเอียดมากแฮะ มีโน่น นี่ นั่น ที่ต้องการการตัดสินใจที่ไม่ได้มาจากคนเดียว กำหนดการเราโพสท์แล้วโพสท์อีก

แค่สัปดาห์เดียวของการจัดโครงการ เราประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องร่วม 30 คน ทั้งเรื่องรถ อาหาร สถานที่ ด้วยความหวังว่ากิจกรรมจะออกมาราบรื่นเพื่อเป็นที่จดจำและเก็บเป็นความรู้สึกดีๆเมื่อนึกถึงต่อไป




ปีหน้า Field studies ของ NUS จะไม่ลงใต้ (น่าจะไปเริ่มต้นทริปที่อีสาน จากที่เราฟังมา)
และเราวางแผนจะไปเรียน ป.เอก อย่างจริงจังซักที  เลยไม่แน่ใจว่าโครงการ Buddy Program จะมีอาจารย์รับช่วงต่อมั๊ย

การทำกิจกรรมมันดีกับความตั้งใจส่วนตัวที่ไม่อยากสอนแค่ในห้องเรียน แต่มันก็มาพร้อมกับภาระงานนอกสถานที่ ที่อาจจะเบียดบังเรื่องหลักที่เราควรทำ(เสียที)คือการเรียนต่อ 

หวังว่าการได้ออกนอกรั้วมหาลัยไปทำกิจกรรมครั้งนี้จะทำให้หลายๆคนเริ่มสนใจการหากิจกรรมทำเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตของตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีใครบอก โลกภายนอกมีเรื่องน่าเรียนรู้มากมาย แม้เราจะอายุเท่านี้แล้วก็ยังรู้สึกว่ามันเรียนรู้กันไม่หมด เรื่องโน้นเรื่องนี้ก็ยังไม่รู้ แค่เปิดตา เปิดใจ พร้อมรับการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาก็พอแล้ว ทำอะไรให้ทำจริงจัง เอาเรื่องเล่นๆมาเป็นแหล่งเรียนรู้ก็จะทำให้ชีวิตวัยเรียน หรือวัยทำงาน มีความสุขอย่างแน่นอน

นิสิตหลายคนเมื่อได้ร่วมกิจกรรมด้วย เราแน่ใจว่าจะเป็นคนที่ใฝ่หาความรู้และพร้อมเรียนรู้ นี่เป็นลักษณะของคนรุ่นใหม่ที่สังคมอยากได้ จงรักษาพลังของวัยหนุ่มสาวและใช้มันอย่างคุ้มค่าต่อไป


-------------




วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ความสุขที่โสสะ

"พี่นกไม่ได้มาโสสะนานแล้วนะ" น้องมาศบ่น


เราทำหน้างุนงง เอ๊ะจริงเหรอ อาทิตย์ไหนเราว่างเราก็พยายามจะมาหาน้องๆให้ได้เดือนละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อยนะ

อาทิตย์ก่อน (1-2 มิย.56) เราไปอบรมอาสาสมัครสวนสัตว์
อาทิตย์ก่อนหน้านั้นต้อนรับนิสิตลาว

น้องๆอาจจะเคยชินกับการเห็นหน้าเราช่วงเสาร์/อาทิตย์ เลยคิดเอาว่าไม่ได้เห็นหน้าเรานานรึเปล่า
เรารักความรู้สึกของการมาที่โสสะ และรู้สึกดีกับตัวเองทุกครั้งที่ได้ทำตัวมีประโยชน์ และเห็นน้องๆได้ใช้เวลาเล่นปนเรียนกับเราและนิสิตมหาลัยทักษิณ

มหาลัยเพิ่งเปิดเมื่อ 3/06/56 ทำให้นิสิตส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยจะว่าง เราชักชวนหลายๆคน บางคนติดคิวรับน้อง สอนพิเศษ เรา นา ยะ เลยมากันแค่ 3 คน

ช่วงนี้ที่โสสะรณรงค์ให้น้องๆเรียนพิเศษวันหยุด ทำให้น้องๆที่ขึ้นชั้นประถมต้องไปเรียนพิเศษเลยเหลือน้องๆวัยอนุบาลและเด็กเล็กๆเท่านั้นที่มีเวลามาทำกิจกรรมกับพวกเรา

น้องๆกลุ่มเล็กๆพวกเราก็ไม่เกี่ยง ยิ่งจำนวนน้อย เราจะได้เล่นได้ทั่วถึง


มาคราวนี้เห็นน้องแตงโม หน้าตาแป๋วแหวว โตขึ้นเยอะ แต่ก็ยังไม่ช่างพูด ได้แต่ตามพี่ๆมา รับขนม แล้วก็เดินเล่นอยู่แถวนั้น โตๆไปเราว่าน้องจะเป็นคนน่ารักคนนึงเลยทีเดียว


ส่วนน้องมิ๊น ตอนเด็กๆเข้าประกวดหนูน้อยนพมาศบ่อยๆและมักได้รางวัลติดมือกลับบ้านซะด้วย ตอนนี้เริ่มออกแนวเด็กผู้ชายห้าวหาญ คงเป็นไปตามวัย น้องมิ้นเรียนหนังสือเก่งทั้งเขียนตามคำบอกถูกต้องและคำศัพท์ภาษาอังกฤษก็รู้เยอะ น้องมิ้นโชว์หนังสือนิทาน 2 ภาษาที่ได้รับจากผู้อุปการะซึ่งเพิ่งจะส่งให้เธอให้เราดูด้วย น่ารักจังผู้อุปการะที่ดูแลและใส่ใจเด็กรวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กๆ

น้องเมษ หนุ่มน้อย มักจะมาเล่นกับเราทุกครั้ง ให้ทำอะไรก็ทำ เวลาให้ทำการบ้านเสร็จแล้ว กินแล้วก็จะลากลับไปทำอย่างอื่นต่อ นิสัยน่ารักมาก

น้องสิทธิ ด้วยความที่แต่ละครั้งบางทีเราเล่นกับน้องไม่ทั่วถึง ครั้งนี้มีเวลาอยู่กับน้องสิทธินาน เห็นน้องสิทธิตั้งใจวาดภาพพี่หมีใหญ่และเขียนตามคำบอกตามประสาเด็กป.1 ก็ทำให้เราเอ็นดู




หลังจากไปยืมหนังสือจากห้องสมุดของหมู่บ้านโสสะ เราก็เอามาตั้งๆไว้ที่พื้นลานกิจกรรมให้น้องๆเลือกอ่าน เริ่มด้วยการอ่าน "บิ๊ซซี่กับหมีใหญ่" เรื่องราวของกระต่ายกับหมีใหญ่ที่ช่วยเหลือกัน หมีใหญ่ช่วยพาบิ๊ซซี่ซึ่งหลงทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย ระหว่างทางหมีใหญ่มีอาการง่วงนอนเนื่องจากเป็นช่วงจำศีลหน้าหนาว บิ๊ซซี่กลัวว่าหมีใหญ่เมื่อมาส่งตนแล้วจะง่วงหลับไประหว่างทาง เดี๋ยวจะหนาวมาก เลยเอาใบไม้และอุปกรณ์กันหนาวไปห่มให้หมีใหญ่ซึ่งนอนหลับอุตุอยู่กลางป่า



เป็นมิตรภาพระหว่างสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ที่น่ารัก (ช่วงนี้เราเห่อเรียนรู้เรื่องสัตว์ อิๆ หลังจากไปอบรมบ่มความรู้เรื่องสัตว์จากสวนสัตว์สงขลามาหมาดๆ)

เราเล่าให้น้องกฤช ปังปอนด์ ฟังจบไปแล้วก็ถามน้องว่าอยากฟังเรื่องไหนอีก

น้องๆชี้้มาที่เรื่่องเดิม ??

"อะไรนะ ??" ก็เราเพิ่งจะอ่านไปหยกๆเลย ว่าแล้วก็หยิบเรื่องใหม่ "แบ่งปันกันนะ" มาอ่าน(แบบบังคับ)ให้น้องๆฟังดีกว่า จะได้โยงไปสู่การแบ่งขนมกันกินต่อไป เราซื้อโชกี้ โชกี้ (ชอคโกแลตหลอด)มาฝากน้องๆ และได้รับโก๋แก๋รสกุ้ง (อร่อยมาก) มา 3 ลังจากน้องอาร์ ซึ่งเมื่อรู้ว่าเราจะมาหาน้องๆที่นี่ก็สมทบทุนเอาขนมจากบริษัทภรรยามาให้





นา & ยะ คู่หูเอกเทคโนฯปี4 มาร่วมด้วยช่วยกันเล่านิทานให้น้องๆฟังจนเที่ยง พวกเราก็บอกให้น้องๆกลับไปกินข้าว ส่วนพวกเราขอตัวกลับบ้าน 

นามากับเราตั้งแต่ชั้นปี1 และยังมาสม่ำเสมอเมื่อว่าง ความรักเด็กของนาจะทำให้นามีจิตใจอ่อนโยน พร้อมช่วยเหลือคนอื่น และเผื่อแผ่นิสัยอ่อนโยนไปยังน้องๆ

Some people want it to happen, some wish it to happen, others make it happen. 
(บางคนต้องการให้สิ่งดีๆเกิดขึ้น บางคนอธิษฐานให้สิ่งดีๆเกิด แต่บางคนทำให้สิ่งดีๆเกิดขึ้นเอง)
                                                                             --  Anonymous

วันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2556

Songkhla Zoo Volunteer (Day 2)



่วันนี้พี่ๆเจ้าหน้าที่สวนสัตว์พานั่งรถรางชมสวนสัตว์ โดยเริ่มกันที่ซุ้มนกเงือก







นกเงือกจัดเป็นสัตว์ที่บอกความอุดมสมบูรณ์ของป่า หากป่ายังสมบูรณ์ นกเงือกก็จะอยู่ได้ โพรงรังที่นกเงือกทำเอาไว้จะอยู่สูงมาก โดยนกเงือกจะเอาอาหารไปให้ลูกกินในโพรงรัง ซึ่งโพรงรังส่วนใหญ่มาจากการเจาะต้นไม้ของ"นกหัวขวาน" (นกหัวขวานมีจงอยปากที่แหลมคม เจาะต้นไม้ขนาดใหญ่ได้)

 นกเงือกยังสามารถกินพืชพันธุ์บางชนิดที่นกอื่นๆกินไม่ได้ ทำให้ต้นไม้เหล่านี้สามารถแพร่พันธุ์ต่อไปได้เมื่อนกเงือกบินไปที่ต่างๆและคายเมล็ดต้นไม้เอาไว้ ข้อดีอีกอย่างคือมันช่วยควบคุมประชากรแมลงทางธรรมชาติได้ด้วย




ระหว่างฟังบรรยายจากพี่สมศักดิ์ เราเห็นนกมันอึปรี๊ดลงมา ด้วยความกลัวนกเงือกจะทักทายเรายามเช้าด้วยอึ เราเลยต้องใส่หมวกฟังบรรยาย ฮี่ๆ กลัวจะอุ่นๆบนหัวโดยไม่รู้ตัว




ซุ้มนกเงือกมีนกเงือกบินไปบินมาเยอะมาก ไกด์บรรยายว่าประเทศไทยมีนกเงือก 13 ชนิด เช่นนกเงือกกรามช้าง นกแก๊ก  โดยนกเงือกจะกินผลไม้ และสัตว์เล็กๆเป็นอาหาร

กลับมาจากทัวร์สวนสัตว์ สิ่งที่เราสนใจตอนนี้เลยเป็นเรื่องราวของสัตว์ป่า 
เราเห็นหนังสือของ James ที่เอามาวางให้นิสิตอ่านหน้าสาขาวิชา "มรดกโลก มรดกไทย" เอามาพลิกๆอ่านดู มีความรู้เรื่องสัตว์และภาพถ่ายสวยๆเยอะมาก 





การได้เข้าร่วมค่ายหรืออบรมอะไรก็ตาม เราว่ามันทำให้เราได้ต่อยอดความรู้ด้วยการกระตุ้นความสนใจของเราให้กลับมาหาหนังสืออ่าน search อินเตอร์เน็ต หาคลิปดู ตอนนี้ความรู้เรื่องสัตว์ของเราเริ่มพอกพูนขึ้นแล้ว เย้!


ค่ายอบรมอาสาสมัครสวนสัตว์ยังทำให้เราตระหนักว่าคนเราควรปฏิบัติต่อสัตว์ให้เท่าเทียมเหมือนที่ปฏิับัติกับคน เพราะมันก็มีสิทธิที่จะอยู่บนโลกนี้เท่าๆกันกับเรา


Each and every animal on earth has as much right to be here as you and me.
                                                               - Anthony Douglas Williams



                                                                                   2/06/56

วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2556

Songkhla Zoo Volunteer (Day 1)





และแล้วโครงการที่เรารอคอยอีก 1 อย่างก็มาถึง " Zoo Volunteer เยาวชนรุ่นใหม่ใส่ใจจิตอาสา" ของสวนสัตว์สงขลา วันที่ 1-2 มิย.56 

เพิ่งสังเกตุว่าสวนสัตว์ใช้สมเสร็จเป็นสัญลักษณ์ของสวนสัตว์เนื่องจากสวนสัตว์สงขลาเป็นศูนย์เพาะพันธุ์สมเสร็จ ซึ่งเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ปีนี้สวนสัตว์ไทยครบรอบการก่อตั้ง 75 ปี อายุช่างยืนยาว จากประวัติ ร.5 เป็นผู้ริเริ่มการก่อตั้งสวนสัตว์ในเมืองไทยหลังจากพระองค์ประพาสสวนสัตว์ในยุโรป และสัตว์ชนิดแรกในสวนสัตว์คือกวางดาว

เราเคยเข้าสวนสัตว์มาแล้วหลายที่ ไม่ว่าจะเป็นสวนสัตว์ดุสิตหรือเขาดินวนา (กทม.) สวนสัตว์เปิดเขา
เขียว (ชลบุรี) สวนสัตว์เชียงใหม่เพื่อดูแพนด้า และสวนสัตว์สงขลา 




เมื่อหลายปีก่อนเราเคยมาร่วมปลูกต้นไม้ที่สวนสัตว์ ส่วนการมาครั้งนี้เพื่อมาเข้าร่วมอบรมอาสาสมัครสวนสัตว์ด้วยความอยากรู้อยากเห็นว่าการทำงานเบื้องหลังสวนสัตว์เป็นอย่างไร และวิธีการอธิบายสัตว์ต่างๆจากพี่ๆองค์การสวนสัตว์





 2-3 เดือนก่อน เราส่งชื่อนิสิตไป 20 คนเพื่อรับการอบรมเป็นอาสาสมัครนำชมสวนสัตว์สงขลา ภายหลังเราต้องตัดรายชื่อไป 10 คน เนื่องจากสวนสัตว์มีงบประมาณจำกัด

วันนี้พวกเราทั้ง 8 (ยะ ไฟท์ จ๋า แก้ว มด ฟิล์ม เย็น ณัฐ) ก็รวมตัวมาขึ้นรถตุ๊กๆหน้ามหาวิทยาลัยตั้งแต่ 7.30 น. อ๊ะ ลุงขับตุ๊กๆคันแรกปฏิเสธบอกว่ารถขึ้นไม่ไหว จนพวกเราต้องเดินไปหารถตุ๊กๆคันใหม่ คุณน้าใจดีเก็บแค่คนละ 20 บ. เมื่อผ่านตุ๊กๆคันแรก คุณลุงมีตะโกนสอบถาม "ขึ้นเขาไหวเรอะ" น่าน...อย่าทำให้คนขับคันที่สองเปลี่ยนใจน๊า ...ไม่ยอม

เมื่อถึงทางลาดชัน พวกเราต้องใช้วิธีกลั้นลมหายใจ ทำตัวเบาๆเพื่อให้ตุ๊กๆมีแรงขับขึ้นไปได้

อ๊ะฮ๊า มาถึงฝ่ายการศึกษาแล้ว อ้าว...คิดว่าจะอยู่ใกล้กับที่ค่ายพักแรมซึ่งเป็นจุดฝึกอบรม
พวกเรายังต้องเดินกันอีกไกลผ่านกรงสัตว์ต่างๆนานา สัตว์ทั้งหลายได้ยินเสียงโหวกเหวกของพวกเรา บางตัวหันมา 


"อ๊ะ...วันนี้มีคนมาให้ดูแต่เช้าเลย :)"

เราถือเป็นการออกกำลังกายและทัวร์สวนสัตว์ไปพลางๆก่อนเรียนรู้การเป็นไกด์












พี่ๆฝ่ายการศึกษาของสวนสัตว์สงขลานำทีมมาให้ความรู้พวกเราทั้งภาคเช้าและบ่าย ความรู้อัดแน่นจนเรากลับบ้านอย่างคนสมองโต กลับมาทายสิ่งที่เราคิดว่าแม่ไม่น่าจะรู้ เช่น




เรา: "แม่ๆ รู้มั๊ยว่าเหงื่อของฮิปโปสีอะไร"

ติ๊กต่อกๆ  (กดดันแม่)

แม่งงๆสงสัยคิดว่าเหงื่อมีสีด้วยเหรอ เหมือนที่เราเคยคิดก่อนจะรู้ความจริง

เฉลยๆ (แบบว่ารอนานไม่ได้ อิๆ) " แต่น แตน แต๊น...สีแดง"

* เหงื่อของฮิปโปมีสีแดงและเวลาเหงื่อออกมาจะช่วยปกป้องมันจากความร้อน* 

เรา: "แม่ๆ แล้วรู้มั๊ยว่าทำไมฮิปโปชอบอยู่ในน้ำ"

แม่: "มันน่าจะขี้ร้อน"

* อืม...อันนี้โดยทั่วไปก็ถูก แต่มีเหตุผลมากกว่านั้นคือแรดมันตัวใหญ่มาก ในขณะที่ขาเล็ก ทำให้ขารับน้ำหนักไม่ค่อยได้ (เหมือนคนอ้วน) ทำให้มันชอบอยู่ในน้ำเนื่องจากน้ำช่วยพยุงน้ำหนัก นอกจากนี้ทำให้สัตว์อื่นมาล่ามันได้ยาก





* รู้มาอีกด้วยว่าคำว่า Hippopotamus เป็นภาษากรีกโบราณ หมายถึง ม้าน้ำ  เพราะเค้ามองว่ามันเหมือนม้าที่อยู่ในน้ำ

เย้!! มีความรู้รอเราอยู่พรุ่งนี้อีก 1 วันกับการนั่งรถรางชมสวนสัตว์พร้อมฟังบรรยาย

หมายเหตุ - ขอบคุณภาพสวยๆจาก Facebook: ฝ่ายการศึกษา สวนสัตว์สงขลา