วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2556

Buddy Program 2013 : Why I run this program (part I)


โครงการ Buddy Program ระหว่างมหาวิทยาลัยทักษิณกับ National University of Singapore เป็นโครงการต่อเนื่องที่การเตรียมงานค่อนข้างเยอะ แต่ทุกครั้งที่มันจบลง มันเป็นหนึ่งกิจกรรมที่เราภูมิใจที่ได้เป็นคนหนึ่งที่ทำให้มันผ่านพ้นไปด้วยดี

ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้วสินะ

ครั้งแรกเมื่อปี 51 เรากับ May เพื่อนนิสัยดีของเราชาวสิงคโปร์ซึ่งสอนอยู่ที่ NUS ถามเราว่าสนใจจะทำโครงการร่วมกันมั๊ย ไหนๆเราก็สนิทกัน การทำงานร่วมกับเพื่อนสนิทน่าจะง่ายและมีอะไรก็น่าจะคุยกัน ปรึกษากันได้ง่าย เราเลยตกปากรับคำ แอบดีใจที่จะได้เห็นการทำงาน field studies ของภาคภูมิศาสตร์จาก NUS (เมย์เคยพาเราไปนั่งเรียนวิชาของ อ.Carl และเป็นครั้งที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราช่างมีความรู้หางอึ่งเกี่ยวกับเมืองไทย แถมประหลาดใจว่าทำไมคนต่างชาติถึงได้รู้จักเมืองไทยในเชิงลึกกว่าเราอีกเนี่ย ...ไม่ยอมนะ  อ.Carl เปิดหนังไทยเรื่อง "สาละวิน" ให้นศ.ในห้องดูและถกกันเรื่องการเลี้ยงช้างในไทย อันนี้ทำให้เราอายที่เราไม่ค่อยได้ดูหนังไทยโดยเฉพาะหนังชีวิต เมื่อข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึง NUS กลับมานั่งดูเรื่องราวไทยๆอย่างคนที่ไม่ค่อยรู้อะไรมาก อายนะเนี่ย)

เมย์จบปริญญาเอกด้านภูมิศาสตร์และเป็นผู้หญิงที่ถึกมากจริงๆ ทั้งการนำทีมนิสิตจำนวนร่วม 50 คนร่วมกับอาจารย์ Carl & ทีมงาน เพื่อมาเรียนรู้วิถีชีวิตที่ไทยใน 5 สัปดาห์ เร่ร่อนกันไปทุกถิ่นทั่วไทย เหนือ ใต้ ออก ตก การมีเพื่อนต่างชาติที่ active อยู่ตลอดเวลา ทำให้เราต้อง active ไปด้วยแฮะ

นิสัยของเรา 2 คนต่างกัน เมย์สูบบุหรี่และดื่มเหล้า สามารถเข้ากับชาวบ้านได้ง่ายมาก (สงสัยอันนี้เป็นบุคลิกของคนจบด้าน Human Geography ซึ่งต้องศึกษาวิถีชีวิตคนและอยู่ร่วมกับชุมชนให้ได้

เราเป็นคนถือศีล 5 (55:) ไม่แตะต้องเหล้ายาและบุหรี่ แต่พวกเราก็อยู่ร่วมกันได้เมื่อเปิดใจให้กว้างและมองข้ามบุคลิกภายนอกรวมทั้งความต่างของเรา

น่าแปลกที่เมื่อเมย์ต้องการหักดิบเลิกบุหรี่ เธอก็สามารถทำได้ง่ายดายเมื่อเธอคิดว่ามันถึงเวลา ทั้งที่สูบมาตั้งแต่อายุ 15 ปี ของแบบนี้มันอยู่ที่ใจจริงๆ นับถือๆ

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการมีเพื่อนดีๆจากสิงคโปร์ ทำให้เมื่อเป็นอาจารย์ เราอยากให้นิสิตได้รู้จักเพื่อนสิงคโปร์ เรียนรู้ความเป็นสิงคโปร์จากพวกเค้า และเลือกเอานิสัยดีๆของคนที่นั่นมาปรับใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพของตนเอง คนสิงคโปร์บางคนดูบุคลิกแข็งๆ แต่ภายใต้บุคลิกแบบนั้นเค้ามีความจริงใจมาก
คบใครคบนาน

----
กลับมาสู่โครงการครั้งที่ 3









ครั้งนี้เป็นครั้งที่การจัดการยากกว่าครั้งก่อนๆเนื่องจากต้องไปต่างจังหวัด ในขณะที่ครั้งก่อนจะทำกิจกรรมแค่สงขลา (ซึ่งเราจัดให้ดูวิถีชีวิตประมง สวนสมรม การทอผ้าที่เกาะยอ ในปีแรก ส่วนปีที่ 2 เพิ่มการไปดูวิถีตาลโตนดเข้ามาด้วยที่ ต.ท่าหิน สทิงพระ)

การจัดการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นทักษะที่จำเป็นมากเมื่อต้องมาเป็นผู้จัดกวน เอ๊ย ผู้จัดการค่าย เนื่องจากต้องดูแลทุกอย่าง เมื่อ Aj. Carl, Aj. Alan & Aj.James ยกให้เป็นหัวหน้าแก๊งค์ ให้อำนาจการจัดการและตัดสินใจ

ตัวพองๆได้ 2-3 นาทีเมื่อได้รับตำแหน่งใหญ่ยักษ์ขนาดนี้

อ๊ะ...มาคิดได้ว่าสงสัยอาจารย์ทั้งหลายมอบหมายงานหนักให้เราซะแล้ว 
อย่างไรก็ตามเราเคยร่วมงานกันมาก่อน และอาจารย์คาร์ลกับอลันก็เป็นคนใจดี 
เราก็จะได้เรียนรู้การทำงานสไตล์สิงคโปร์จากพวกเค้าในช่วงที่อยู่สงขลา-พัทลุง ด้วยกัน

เราเตรียมการตั้งแต่ก่อนปิดเทอมใหญ่ด้วยการพูดคุยกับนิสิตที่สมัครเพื่อให้เห็นภาพของกิจกรรมแบบ
กว้างๆ หลังจากนั้นให้นิสิตแบ่งกลุ่มทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงตารีกีปัส พิธีกร เกมส์ ร้อยพวงมาลัย ทำเกียรติบัตร และสกรีนเสื้อ (ขอบใจนิสิตทุกแรงแข็งขันมา ณ ที่นี้)

งานนี้ควรเป็นงานที่นิสิตได้มีส่วนร่วมและฝึกการทำงานให้รู้สึกว่าค่ายนี้เป็นผลงานของทุกคน

หลังจากนั้นพวกเราก็สร้าง FB page ชื่อว่า TSU & NUS Buddy Program 2013 เอาไว้แชร์ข้อมูลเรื่องพัทลุง เอาข้อมูลต่างๆที่หามาได้มาแลกเปลี่ยนกันเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนออกค่ายระหว่าง 18-22 มิย.56



นิสิตบางคนอาจคิดว่าการออกค่ายมันจะอะไรกันนักหนา ทำไมต้องเตรียมตัว เตรียมข้อมูลมากมาย
หลายคนอาจไม่ชิน เพราะปกติเอกอังกฤษไม่ค่อยได้ทำอะไรแบบนี้ เวลาไปทำกิจกรรมนอกสถานที่ก็แค่การถ่ายรูป(โดยเฉพาะรูปตัวเอง)  เก็บข้อมูลเล็กๆน้อยๆพอเป็นพิธี

หลายคนอาจรู้สึกว่าเราเข้มงวด และหลายคนไม่เคยเรียนวิชาที่เราสอน (อาจจะเป็นโชคดีของพวกเค้า อิๆ) ทำให้ไม่เข้าใจกระบวนการคิดและการทำงานของเรา แต่คนไหนที่เคยเรียนกับเราจะเคยเห็นสไตล์การทำงานของเรามาบ้างแล้ว 

บางคนเมื่อถูกสอบถามจากสต๊าฟสิงคโปร์บอกว่าเมื่อรู้ว่าเราเป็นผู้จัดโครงการนี้ก็ไม่อยากเข้าร่วมเนื่องจากเราเป็นคนดุและตรงมาก (เอ่อ...จริงๆแล้วก็พยายามจะเป็นคนใจดีอย่างอาจารย์แววและอาจารย์เจมส์นะ เนื่องจากลึกๆชอบคิดว่าตัวเองเป็นคนรักเด็ก รักสัตว์ รักธรรมชาติ อย่างนางสาวไทย :)

แต่หากใจดีแล้วงานไม่เดินหรือนิสิตไม่ active เราก็ขอเป็นคนดุจะดีกว่า เพื่อภาพรวมการทำงานของมหาวิทยาลัยและสาขาต่อสายตานิสิตและอาจารย์ NUS

นิสิตกับเรายังเจอกันอีก 2 ครั้งเมื่อเปิดเทอมเพื่อเตรียมงานและ present สิ่งที่ไปศึกษามา
 การขาดเรียนของนิสิตทั้งอาทิตย์ทำให้เราต้องวางแผนดีๆเพื่อให้พวกเขาเรียนรู้ได้มากที่สุดและเราคิดเอาเองว่านี่เป็นโอกาสในการเรียนรู้แค่ 1 ครั้งใน 4 ปีของพวกเค้าที่จะได้เรียนรู้เพื่อนต่างชาติ ชุมชน และฝึกการใช้ชีวิตในชนบท



อ.Carl, James พี่นพ พี่ซี กับเรามีประชุมเตรียมงาน 1 เดือนก่อนเริ่มงาน หลังจากนั้นก็ยังติดต่อทางอีเมลกันเรื่อยๆ เราลงพท.ไปดูสถานที่ทำกิจกรรม คุยกับลุงจรูญ (บ้านแหลมจองถนน) ลุงบูรณ์ (ตะโหมด) และคุยกับพี่เบ็ญ หัวหน้าอาศรมสุขภาวะ ของวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน พัทลุง (ไม่น่าเชื่อว่าเรารู้จักกับพี่เบ็ญมา 11 ปีแล้ว!) เพื่อคุยรายละเอียด กิจกรรม และงบประมาณ งานแต่ละอย่างการเก็บตกรายละเอียดมากแฮะ มีโน่น นี่ นั่น ที่ต้องการการตัดสินใจที่ไม่ได้มาจากคนเดียว กำหนดการเราโพสท์แล้วโพสท์อีก

แค่สัปดาห์เดียวของการจัดโครงการ เราประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องร่วม 30 คน ทั้งเรื่องรถ อาหาร สถานที่ ด้วยความหวังว่ากิจกรรมจะออกมาราบรื่นเพื่อเป็นที่จดจำและเก็บเป็นความรู้สึกดีๆเมื่อนึกถึงต่อไป




ปีหน้า Field studies ของ NUS จะไม่ลงใต้ (น่าจะไปเริ่มต้นทริปที่อีสาน จากที่เราฟังมา)
และเราวางแผนจะไปเรียน ป.เอก อย่างจริงจังซักที  เลยไม่แน่ใจว่าโครงการ Buddy Program จะมีอาจารย์รับช่วงต่อมั๊ย

การทำกิจกรรมมันดีกับความตั้งใจส่วนตัวที่ไม่อยากสอนแค่ในห้องเรียน แต่มันก็มาพร้อมกับภาระงานนอกสถานที่ ที่อาจจะเบียดบังเรื่องหลักที่เราควรทำ(เสียที)คือการเรียนต่อ 

หวังว่าการได้ออกนอกรั้วมหาลัยไปทำกิจกรรมครั้งนี้จะทำให้หลายๆคนเริ่มสนใจการหากิจกรรมทำเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตของตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีใครบอก โลกภายนอกมีเรื่องน่าเรียนรู้มากมาย แม้เราจะอายุเท่านี้แล้วก็ยังรู้สึกว่ามันเรียนรู้กันไม่หมด เรื่องโน้นเรื่องนี้ก็ยังไม่รู้ แค่เปิดตา เปิดใจ พร้อมรับการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาก็พอแล้ว ทำอะไรให้ทำจริงจัง เอาเรื่องเล่นๆมาเป็นแหล่งเรียนรู้ก็จะทำให้ชีวิตวัยเรียน หรือวัยทำงาน มีความสุขอย่างแน่นอน

นิสิตหลายคนเมื่อได้ร่วมกิจกรรมด้วย เราแน่ใจว่าจะเป็นคนที่ใฝ่หาความรู้และพร้อมเรียนรู้ นี่เป็นลักษณะของคนรุ่นใหม่ที่สังคมอยากได้ จงรักษาพลังของวัยหนุ่มสาวและใช้มันอย่างคุ้มค่าต่อไป


-------------




3 ความคิดเห็น:

  1. เพิ่งรู้ว่าเพื่อนถือศีล 5
    เอ...แล้วศีลข้อ 3 เนี่ย ถือแบบไม่เคร่งใช่ป่าว 5555 (ผิดทางใจได้ถ้าหล่อ)

    ตอบลบ
  2. มุขถือศีล 555 นี่เราใช้บ่อย
    เวลาจำเป็นต้องนั่งร่วมวงแอลกอฮอล์ เราก็จะกลายเป็นคนถือศีลขึ้นมาทันที อีกมุขนึงคือบอกว่าแพ้แอลกอฮอล์ ส่วนศีลข้อ 3 น่าจะเคร่งครัดที่สุดแล้ว(มั๊ง :)

    ตอบลบ
  3. อย่างนี้ถ้าเจอผู้ชายที่ไม่ชอบมาจีบ ก็คงใช้มุข "ถือพรมหจรณ์" สินะ ^^

    ตอบลบ