วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

The Power of Half: พลังแห่งการแบ่งครึ่ง







เมื่อเห็นหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกที่ร้านหนังสือ ดิฉันรู้สึกติดใจในชื่อเรื่อง The Power of Half พลังแห่งการแบ่งครึ่ง ดิฉันเกิดคำถามกับตัวเองว่าพลังแห่งการแบ่งครึ่งคืออะไร ผู้เขียนแบ่งครึ่งอะไร และส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับผู้ที่แบ่งครึ่งอย่างไรบ้าง

ก่อนจะซื้อเล่มนี้ดิฉันรู้สึกลังเลมาก ด้วยความรู้สึกที่ติดจะมีอคติเล็กน้อยต่อหนังสือแปล ว่าแปลแล้วเราอาจจะอ่านสะดุดเนื่องจากสำนวนกลิ่นนมเนย และอยากจะซื้อฉบับภาษาอังกฤษอ่านมากกว่า แต่อย่างหลังทำได้ยาก ก็เลยลองพลิกๆอ่านคำนิยมของหนังสือเล่มนี้ เมื่อซื้อมาไม่มีคำว่าผิดหวัง จนอยากแนะนำหนังสือเล่มนี้ให้คนอื่นได้อ่านด้วย

อาจารย์ณฐพงศ์ ซึ่งรับผิดชอบการทำวารสารคณะ รู้ว่าดิฉันเป็นคนอ่านหนังสือเยอะ เลยขอให้เขียน review หนังสือหนึ่งเล่ม

ปิ๊งส์!! เสียงหลอดไฟในหัวเกิดประกาย ดิฉันขอเลือกหนังสือเล่มนี้แหละ เผื่อบังเอิญมีใครได้อ่านแล้วจะติดใจเหมือนดิฉันจนแนะ
นำต่อๆกันไป สำหรับดิฉันเรื่องนี้เหมือนเป็นหนัง Pay It Forward ในภาคหนังสือ











เมื่ออ่านก็ยิ่งติดใจและได้เรียนรู้แนวคิดของผู้เขียนและครอบครัวด้านแนวคิดจิตอาสา ขณะที่กำลังละเลียดอ่าน
ดิฉันคิดว่ามันคงเป็นหนังสือให้แรงบันดาลใจโดยทั่วไป ที่คงบอกให้ผู้อ่านแบ่งครึ่งสิ่งของที่ตนเองมี น่าจะเป็นหนังสือ how to มองโลกในแง่ดีอย่างที่เห็นตามท้องตลาด แต่เมื่อได้อ่านอย่างตั้งใจ ทำให้รู้ว่าเรื่องนี้มีดีกว่านั้น นั่นคือได้เห็นวิธีคิด กระบวนการทำงาน การช่วยเหลือ ร่วมคิด ของสมาชิกในครอบครัว นอกจากนี้ยังรวมถึง การต่อสู้กับคำถามของสังคม ความท้อแท้ และ
สายตาประหลาดๆของเพื่อนฝูงหรือบุคคลภายนอกที่มองครอบครัวนี้

The Power of Half เป็นการบันทึกประสบการณ์จริงของครอบครัวหนึ่งในอเมริกาประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ลูกวัยรุ่น 2 คนคือฮันนา และโจเซฟ ซึ่งเป็นครอบครัวที่มีฐานะดี พ่อแม่มีอาชีพการงานที่ดี และช่วยเหลือสังคมตามที่มีโอกาส พวกเขาดำเนินชีวิตตามแบบ American Dream ทั่วไป นั่นคือมีบ้านหลังใหญ่ มีการศึกษา การงานที่ดี จนเมื่อฮันนาเห็นคนไร้บ้านตามสี่แยกตอนที่ครอบครัวของเธออยู่ในรถที่ติดแอร์เย็นฉ่ำ เธอเริ่มตั้งคำถามว่าครอบครัวของเธอจะสามารถช่วยเหลืออะไรคนจนได้บ้าง เนื่องจากครอบครัวของเธอเป็นครอบครัวประชาธิปไตย ปัญหานี้เลยถูกนำมาพูดคุยกัน
เมื่อแม่ของเธอถามว่า หากจะช่วยคนยากจนก็สามารถทำได้โดยการขายบ้านและเอาเงินครึ่งหนึ่งไปช่วยการกุศล อย่างไม่น่าเชื่อที่ความคิดนี้ได้รับความเห็นชอบ ทุกคนเลยต้องมาหาวิธีขายบ้าน และคิดกันว่าจะเอาเงินที่ขายบ้านได้ไปช่วยองค์กรไหนและจะช่วยเหลือประเทศอะไร ฟังดูเหมือนจะสวยหรู แต่ว่าการขายบ้านไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในอเมริกา รวมทั้งบ้านยังขายไม่ได้ราคาอย่างที่ตั้งใจเอาไว้ เรื่องราวต่อจากนั้นเป็นการแก้ปัญหาและการเรียนรู้ร่วมกันของครอบครัวนี้ที่มุ่งมั่นแบ่งปันตามความเชื่อของครอบครัวตนเอง

ครอบครัวนี้มีทั้งช่วงเวลาสุขทุกข์กับประสบการณ์ครั้งใหญ่ที่ได้เปลี่ยนแปลงความคิดของครอบครัวพวกเขาไปตลอดกาล ไม่ว่าจะเป็นฮันนาที่ต้องเรียนรู้การออกไปพูดต่อหน้าสาธารณะเรื่องโครงการของเธอ และครอบครัวเธอต้องคอยตอบคำถามจากคนรอบข้าง การเสียเพื่อนหรือคนรู้จักที่เคลือบแคลงการกระทำของครอบครัวพวกเธอ

ความคิดเรื่องการขายบ้านของเธออาจจะดูสุดขั้วเกินไปสำหรับคนอื่นๆ ในฐานะคนทั่วไปที่ต้องการแบ่งปันก็สามารถทำได้ง่ายๆ เธอแนะนำว่าเราอาจสละเวลาดูทีวี เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์จากสามชั่วโมงต่อวัน เอาเวลาครึ่งหนึ่งไปบำเพ็ญประโยชน์ ก็ถือเป็นการแบ่งครึ่งแล้ว หรือสละข้าวของที่ตนมีก็ถือเป็นการแบ่งครึ่งได้เหมือนกัน รวมทั้งการหาซื้อเครื่องสำอางเพียงครึ่งเดียวแล้ว
นำเงินอีกครึ่งไปมอบให้องค์กรการกุศล นั่นก็ได้อีกเหมือนกัน


การให้คำจำกัดความAmerican Dream ใหม่
จากความต้องการแสวงหาทรัพย์สินเพื่อความสะดวกสบายของตนเอง การเลื่อนฐานะและการเงินด้วยการทำงานอย่างหนัก เรื่องนี้พยายามที่จะตีโจทย์ความฝันแบบอเมริกันใหม่เสียใหม่ว่านี่เป็นสิ่งที่ดีแล้วหรือ ผู้คนไม่ควรจะเรียนรู้ว่าสามารถหาเงินได้เท่าไร (How much you can get) แต่ควรคิดใหม่ว่าเราได้แบ่งปันเพื่อผู้อื่นเท่าไหร่ (How much you can give?)
วิธีคิดแบบนี้ทำให้การมองแค่ตนเอง กลายเป็นการรู้จักเผื่อแผ่ผู้อื่น ผู้คนรู้จักการให้มากขึ้น และตั้งคำถามกับตัวเองมากขึ้นว่าการให้เงินทองเป็นเรื่องเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับการใช้เสียสละเวลาและแรงกายในการบำเพ็ญประโยชน์ รวมทั้งการสอนลูกหลานให้รู้จักเป็นอาสาสมัครตั้งแต่เล็กจะเป็นการบ่มเพาะนิสัยการรู้จักเสียสละของพวกเขา  ดังที่อบิเกล บูเร็น นักเขียนคอลัมน์ กล่าวไว้ว่า “ ถ้าอยากให้เท้าทั้งสองข้างของลูกๆยังติดดินอยู่ จงวางความรับผิดชอบอะไรสักอย่างลงบนทั้งสองบ่าของเขาบ้าง“ (หน้า 102)
เมื่อครอบครัวซัลเวนต้องย้ายบ้านออกจากบ้านหลังใหญ่ก็ได้พบว่าได้สะสมของที่ไม่ได้ใช้ไว้มากมาย และเมื่อต้องทิ้งของต่างๆพวกเขาก็รู้สึกว่านอกจากได้ลดขนาดบ้านก็ยังได้ลดขนาดของจำเป็นในชีวิตลงด้วย ความคิดลักษณะนี้เกิดกับผู้คนทั่วไปที่ยิ่งเวลาผ่านไปก็พบว่าตัวเองได้สะสมสิ่งต่างๆไว้มากมาย โดยคิดเอาเองว่าวันข้างหน้าจะได้ใช้ หรือสะสมไว้เพื่อมูลค่าเพิ่มในอนาคต พวกเรามักพบทีหลังว่าเรามักจะไม่ได้ใช้ของเหล่านั้นและต้องทิ้งมันไปในท้ายที่สุด

ฮันนาได้ให้ความคิดเห็นดีๆไว้ว่าในการขอบคุณคนที่ทำให้เราเกิดการเปลี่ยนแปลง เราก็จะเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เพราะการที่เราคิดถึงพวกเขาในแง่บวก ก็ทำให้จิตใจเรามิพลังและรู้จักพลังแห่งการให้ นั่นคือการให้กำลังใจ  เรื่องนี้ทำให้ดิฉันนึกถึง The Staff’s Appreciation Week? ที่มหาวิทยาลัย Pennsylvania State University รัฐเพนซิลวาเนีย อเมริกา โดยในสัปดาห์นี้ที่ตึกกิจการนิสิตจะมีการตั้งโต๊ะพร้อมการ์ดเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เขียนขอบคุณบุคลากรหรืออาจารย์ หากเขียนครบ 5 ใบก็จะได้รับของที่ระลึกเล็กๆน้อยๆ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะจัดส่งการ์ดขอบคุณไปให้บุคคลที่ถูกเขียนถึง ดิฉันได้ร่วมโครงการนี้ด้วยและพบว่าหลังจากนั้นประมาณ 1 อาทิตย์บุคคลที่ดิฉันเขียนถึงได้ส่งอีเมลมาเพื่อขอบคุณและบอกว่าพวกเขารู้สึกประหลาดใจเพียงใดที่การกระทำเพียงเล็กน้อยของพวกเขามีคนที่ชื่นชมการทำงาน มันทำให้พวกเขาทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้นและทำให้วันที่ได้รับการ์ดพวกเขามีความสุขมาก ดิฉันคิดว่าเมื่อได้เขียนขอบคุณใครบางคน มันทำให้เรามองบุคคลอื่นในแง่บวกและพยายามหาข้อดีของคนนั้นมาเขียน เป็นการเปิดทัศนคติแง่บวกของเรา ในขณะที่ผู้รับซึ่งไม่ได้คิดว่าจะมีคนคิดถึงการกระทำดีเล็กๆน้อยของเขาก็ดีใจและภูมิใจในตัวเองที่มีคนเห็นสิ่งที่พวกเขาได้ทำ

จากประสบการณ์การใช้ชีวิตในอเมริกา 1 ปี การได้เห็นการทำงานอาสาสมัครของคนอเมริกันทำให้ดิฉันมองเห็นภาพและความคิดของผู้เขียนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในสังคมของมหาวิทยาลัย PSU ? การทำงานอาสาสมัครไม่ใช่กระแส แต่เป็นสิ่งที่ทางมหาวิทยาลัยพยายามส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา บุคลากรได้ทำงานบำเพ็ญประโยชน์
ใน 1 ปีจะมีสองวันที่บุคลากรและนักศึกษาจะออกไปทำงานอาสาสมัครและมีการประชาสัมพันธ์ในหนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัยทั้งก่อนวันเริ่มงานและนำภาพภายหลังการทำงานอาสาสมัครมาตีพิมพ์ นั่นคือวัน The Martin Luther King’s Day และวัน ??

โดยมี www.volunteer.psu.edu ที่ใช้เป็นพื้นที่ประกาศงานอาสาสมัครภายในมหาวิทยาลัยและพื้นที่ใกล้เคียง ผู้สนใจสามารถไปลงชื่อตามกิจกรรมที่สนใจทำและเลือกเวลาที่ตนเองสะดวก เพราะกิจกรรมอย่างเดียวกันอาจจะจัดหลายช่วงเวลา ข้อดีของเว็บไซต์นี้ก็คือหากในวันทำงานจริงไม่สามารถเข้าร่วมได้ ก็สามารถเข้าไปยกเลิกก่อนวันจริงได้ รวมทั้งก่อนวันทำงานจริงก็จะมีอีเมลแจ้งเป็นระยะเพื่อเตือนผู้ลงชื่อเข้าร่วมกิจกรรม หากกิจกรรมลักษณะนี้ได้นำมาพัฒนาอย่างจริงจังในมหาวิทยาลัยของไทย คงจะเป็นการอำนวยความสะดวกกับผู้ต้องการทำงานอาสาสมัครและผู้ที่ต้องการอาสาสมัครได้เป็นอย่างดี
กิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์ของมหาวิทยาลัย PSU มีหลากหลายให้เลือกตามความสนใจ หลายอย่างน่าจะนำมาปรับใช้กับมหาวิทยาลัยของเราได้ เช่น

-          การรณรงค์การแจกถุงพลาสติกในงานแข่งกีฬาเพื่อไม่ให้ภายหลังจบงานเกิดขยะเกลื่อนกลาดทั่วไป
-          การเตรียมของขวัญปีใหม่ให้ผู้สูงอายุและเด็กตามสถานสงเคราะห์
-          การไปเยี่ยมผู้สูงอายุและทำกิจกรรมร่วมกับพวกเขาเพื่อให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นและเพื่อให้ชีวิตบั้นปลายของผู้สูงวัยมีความสุข
-          การทำงานพัฒนาเส้นทางในป่า
-          การไปเยี่ยมผู้ป่วยออทิสติกและทำกิจกรรมง่ายๆเช่นระบายสี ปั้น วาดภาพด้วยกัน
-          การบรรจุถุงยังชีพให้คนยากไร้
-          การเป็นไกด์ตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ

ดิฉันรู้สึกชื่นชมการทำงานของอาสาสมัครที่รู้จักการแบ่งหน้าที่และทำงานให้ลุล่วงไปได้ การทำงานอาสาสมัครทำให้ผู้ทำได้ฝึกทักษะความเป็นผู้นำและการเสียสละเพื่อสังคม ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เป็นที่ทุกคนควรมีเพื่อร่วมกันทำโลกปัจจุบันให้น่าอยู่มากขึ้น

"You give but little when you give our possessions. It is when you give of yourself that you truly give.”                                                       
                                       Kahlil Gibran


-----------



2 ความคิดเห็น:

  1. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ
  2. อ่านคราวนี้จากที่นั่งสบายๆ ต้องนั่งตัวตรงอ่านเลยนะ
    เพราะคนเขียนทางการมาก 5555

    ตอบลบ