วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2563

E-Magazine interview: September 2020

 




    - จุดเริ่มต้นที่ทำให้อาจารย์สนใจการอ่าน

สนใจการอ่านตั้งแต่วัยประถมที่ชอบเข้าห้องสมุดค่ะ รู้สึกมีความสุขที่ได้อ่านหนังสือและยืมหนังสือจากห้องสมุด และเมื่อเริ่มเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ก็ทำให้ยิ่งรักการอ่านมากขึ้น เพราะรู้สึกว่ามีเรื่องราวบนโลกใบนี้ให้เรียนรู้และค้นหาอีกเยอะค่ะ ยิ่งอ่านมากก็ยิ่งรู้ว่ายังรู้น้อย เลยต้องอ่านให้มากกว่าเดิมค่ะ

     - อาจารย์ได้อะไรจากการอ่าน

การอ่านช่วยเปิดโลกทัศน์ เปิดความคิดให้เป็นคนใจกว้างมากขึ้นค่ะ เมื่อได้อ่านเรื่องราวดี ๆ ตัวอย่างดี ๆ จากบุคคลในหนังสือ นอกจากนี้หนังสือทำให้เป็นคนไม่ขี้เหงาเลยค่ะ แค่มีหนังสือสักเล่มก็สามารถใช้เวลานาน ๆ อยู่กับตนเองได้ค่ะ หนังสือหลายเล่มยังเป็นเพื่อนที่ให้แรงบันดาลใจดี ๆ กับชีวิต และทำให้รักการเขียนด้วยค่ะ เมื่ออ่านเรื่องใด ก็จะเขียนเรื่องที่ประทับใจนั้น ๆ ไว้เพื่อเอาไว้ทบทวนและเป็นสถิติว่าอ่านเรื่องอะไรไปแล้วบ้างค่ะ เวลาเห็นจำนวนหนังสือที่อ่านมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือเมื่อมีใครพูดถึงหนังสือที่เคยอ่าน แล้วสามารถพูดคุยถึงหนังสือเล่มนั้นได้ก็จะมีความสุขมากค่ะ

การอ่านยังทำให้การสอนวิชาการอ่านในชั้นเรียนเป็นไปอย่างสนุกสนาน เพราะสามารถเชื่อมโยงเรื่องนั้นเรื่องนี้เข้ากับประเด็นต่าง ๆ ได้ง่ายค่ะ

    - ประสบการณ์ในการใช้บริการสำนักหอสมุด

ตั้งแต่เข้ามาทำงานในมหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา เมื่อ 16 ปีก่อน ก็เข้ามาใช้บริการห้องสมุดบ่อยมากค่ะ เป็นสถานที่ที่ชอบที่สุดในมหาวิทยาลัยค่ะ บรรยากาศหอสมุดเหมาะกับการอ่านหนังสือเงียบ ๆ และเจ้าหน้าที่หอสมุดให้บริการดีมากค่ะ เมื่อหาหนังสือไม่เจอ ก็มีบริการช่วยหา แม้แต่การยืมหนังสือข้ามหอสมุดก็มีบริการค่ะ ทำให้ได้อ่านหนังสือทุกเล่มที่อยากอ่าน และยังมีบริการให้แจ้งหนังสือที่อยากให้หอสมุดจัดหาเข้าหอสมุด ซึ่งหอสมุดรับฟังและจัดหาให้ค่ะ ทำให้เห็นถึงความใส่ใจของหอสมุดที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการค่ะ ขอชื่นชมค่ะ

    - สำนักหอสมุดได้ช่วยอาจารย์ในการจัดการเรียนการสอน / การวิจัยอย่างไรบ้าง

 ด้านการเรียนการสอน หอสมุดมีหนังสือให้นิสิตค้นคว้าอย่างพอเพียง และเมื่อต้องการยืมเพื่อใช้ในการเรียนการสอนก็สามารถยืมไปเข้าชั้นเรียนได้ค่ะ ทั้งยังมีภาพยนตร์ดี ๆ เอาไว้แนะนำให้นิสิตดูเพื่อการเรียนรู้วัฒนธรรมนานาชาติอีกด้วยค่ะ ส่วนด้านการทำวิจัย จะมีวารสารหลากหลายทั้งที่อยู่บนชั้นและออนไลน์ให้ค้นคว้าอย่างพอเพียงค่ะ

    - ห้องสมุดในยุคการเรียนการสอนปัจจุบันควรปรับตัวอย่างไร เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สอนและผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ดิฉันคิดว่านิสิตรุ่นใหม่ชอบค้นคว้าหาข้อมูลออนไลน์ และไม่ได้อ่านหนังสือเยอะเหมือนก่อน พวกเขาต้องการพื้นที่ในการทำกิจกรรม ทำงานกลุ่ม จึงควรมีพื้นที่ให้ทำงานกลุ่ม หรือมุมที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายค่ะ การมีร้านกาแฟในหอสมุดก็เป็นการส่งเสริมการเข้าหอสมุดของนิสิตค่ะ เมื่อหิวก็สามารถหาอาหารทานได้ แล้วค่อยกลับไปอ่านหนังสือต่อค่ะ มุมต่าง ๆ ของหอสมุดที่จัดเอาไว้ ดิฉันคิดว่าพอเพียงนะคะ โดยเฉพาะห้อง Sky View ซึ่งมีบรรยากาศดี เหมาะกับการอ่านและการทำงานเป็นกลุ่มในบรรยากาศผ่อนคลาย

     - หนังสือที่อยากแนะนำให้ลูกศิษย์ได้อ่าน หนังสือมีความน่าสนใจอย่างไร

มีหนังสือมากมายที่อยากแนะนำค่ะ อยากให้นิสิตลองอ่านวรรณกรรมเยาวชน ที่มุมหนังสือเยาวชน ชั้น 5 ค่ะ หนังสือเยาวชนสำหรับหลายๆคนอาจคิดว่าเอาไว้ให้เด็ก ๆ อ่าน แต่จริง ๆ แล้วมันสามารถอ่านได้ทุกวัย แถมยังทำให้ความคิดของเราได้ย้อนไปวัยเด็ก เราจะพบว่าวิธีการนำเสนอเรื่องดูบริสุทธิ์ และผู้เขียนวรรณกรรมเยาวชนส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ เขียนเรื่องเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนได้อย่างไร มันน่าประหลาดใจมากค่ะ ดิฉันคิดว่าอาจเป็นเพราะพวกเรามีความเป็นเด็กซ่อนอยู่ในตัวทุกคน

    - หนังสือเล่มโปรด สิ่งที่ได้จากหนังสือ

ขอยกตัวอย่างวรรณกรรมเยาวชนนะคะ

หอยทาก ผู้ค้นพบประโยชน์แห่งความเชื่องช้าของตน (วรรณกรรมสเปน) หอยทากตั้งคำถามเรื่องความเชื่องช้า ทำให้คนที่เร่งรีบเช่นพวกเราในปัจจุบันได้เรียนรู้ว่าทำไมเราต้องเร่งรีบกันขนาดนี้ ช้าลงน่าจะดีกว่าไหม

โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง และสมุดพกคุณครู (วรรณกรรมเยาวชนญี่ปุ่น) สองเรื่องนี้สอนการมองโลกในแง่ดี และการเป็นครูที่ดี ได้เห็นตัวอย่างที่ดีจากคุณครูในเรื่องและการเอาใจใส่เด็กวัยประถม วิธีคิดเพื่อรับมือกับเด็ก ๆ ช่างสงสัยค่ะ อ่านไปก็จะยิ้มไป และหยิบมาอ่านได้หลายๆครั้งค่ะ

หากเป็นวารสารแนะนำ National Geographic ค่ะ มีทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ อ่านเล่มนี้แล้วจะรู้ลึก รู้จริง กับประเด็นต่างๆในสังคมระดับโลกค่ะ ภาพประกอบก็สวยมาก ๆ เป็นหนังสือที่ไม่ว่าอ่านเมื่อไร เรื่องราวก็ไม่ล้าสมัยค่ะ

     - ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงบริการสำนักหอสมุด

หอสมุดอาจเพิ่มกิจกรรมที่ทำให้นิสิตมีส่วนร่วม  เช่น การประกวดหนังสือเล่มโปรดผ่านการเขียนเรียงความ การทำคลิป หรือการประกวดเล่าหนังสือเล่มโปรด การประกวดคลิปการใช้หอสมุดอย่างสร้างสรรค์ การเชิญบุคคลที่รักการอ่านมาพูดให้แรงบันดาลใจด้านการอ่านกับนิสิต ดิฉันเคยอ่านข่าวของสิงคโปร์ จะมีการเชิญคนที่มีประสบการณ์ด้านต่าง ๆ มาพูดในหอสมุด และยังมีการให้ผู้เข้าใช้บริการจองเวลาของอาสาสมัครที่มาเป็นคนเล่าเรื่องเพื่อไปพูดคุยเป็นกลุ่มๆ เป็นการใช้คนทำหน้าที่เป็นหนังสือมีชีวิตค่ะ 

(แหล่งข้อมูล: https://www.humanlibrarysg.org/)

 

Fri. 25 Sep. 2020



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น