วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2559

18th IMT-GT Varsity Carnival Experience: Kamonchanok







สวัสดีค่ะ ฉันชื่อนางสาวกมลชนก  กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่สี่ วิชาเอกภาษาอังกฤษ 
จะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการเข้าร่วมสัมมนาในงาน The18th IMT-GT Varsity Carnival 
ระหว่างวันที่ 26-30 กรกฎาคม 2559 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จังหวัดสงขลา 
งานนี้มีผู้เข้าร่วมจากมหาวิทยาลัยจาก 3 ประเทศคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย โดยมีกิจกรรม 3 ด้านใหญ่ๆ คือ ฝ่ายสัมมนา กีฬา และศิลปวัฒนธรรม โดยฉันได้เป็นหนึ่งในตัวแทนของการสัมมนา ในการสัมมนาแต่ละประเทศมี 4 มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วม รวมทั้งหมด เป็น 12 ทีม โดยแบ่งเป็นทีมๆละ 3คน ซึ่งแต่ละทีมก็มาจากหลากหลายสาขาวิชาเรียน ประสบการณ์ในทุกๆวัน ทุกๆกิจกรรมเป็นสิ่งที่น่าจดจำและยังสามารถนำกลับมาพัฒนาตัวเองได้เป็นอย่างดี

                เริ่มต้นตั้งแต่การนำเสนอในหัวข้อหลักที่ว่าThe Roles of Youth In The Future of ASEAN ทีมเราได้หัวข้อย่อยเกี่ยวข้องกับการศึกษา ซึ่งฉันยอมรับเลยว่าเป็นอะไรที่ค่อนข้างยากและไม่ค่อยถนัดเลย เพราะการสัมมนาครั้งนี้เป็นรูปแบบเชิงวิชาการทั้งการเขียนตัวเล่มและรูปแบบการนำเสนอ รวมถึงเวลาในการเตรียมตัวค่อนข้างที่จะน้อยยอมรับตรงๆจากใจว่ารู้สึกกลัว เครียดกังวลและรู้สึกกดดันมากๆ แต่พอมาถึงวันนำเสนอเราสามคนก็พยายามเต็มที่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลังจบการนำเสนอมีการให้ตั้งคำถามแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน พอได้ยินคำถามฉันถึงกับอึ้ง ไม่ใช่เพราะความยากของคำตอบแต่เป็นเพราะสำเนียงที่ฟังยากและเราเองก็ขาดการเตรียมตัว ประกอบกับเราไม่ค่อยคุ้นชิน ตื่นเต้น ประหม่า เมื่อยืนอยู่ ณ จุดๆนั้น ยิ่งเขายิ่งอธิบายยิ่งพาสับสน ทำให้ไม่สามารถทำความเข้าใจกับคำถามได้แต่สุดท้ายแล้วคำถามที่เขาถามมา หลังจบการนำเสนอที่เขามาพูดคุยกับทีมเราอีกครั้งคำถามนั้นถามว่าเราตอบได้ไหม ตอบเลยว่าได้แต่ขณะนั้นจำเป็นต้องแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าโดยการบอกเหตุผลที่เราไม่สามารถตอบคำถามเขาได้ สิ่งที่ประทับใจที่สุดในตอนนั้น ทุกคนต่างปรบมือให้กำลังใจทีมเรา เป็นภาพแห่งความทรงจำที่ดี 

ภาพรวมของการนำเสนอทุกๆกลุ่มน่ายินดีมาก โดยเฉพาะเพื่อนจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย ซึ่งเขาได้เปรียบเรื่องภาษาอังกฤษมากกว่าเด็กไทยอยู่แล้ว การนำเสนอ การทำงานเป็นทีมของเขายอดเยี่ยมและน่าจดจำเป็นตัวอย่าง ทุกทีมเต็มที่กับการนำเสนอ ผิดบ้างพลาดบ้างเป็นสิ่งธรรมดา แต่อยู่ที่เราจะนำมาปรับใช้อย่างไรนั้นเอง

กิจกรรมที่สร้างมิตรภาพทั้งสามประเทศได้ดีนั่นคือ การแบ่งกลุ่มใหญ่ 4 กลุ่มโดยคละนักศึกษาจากทั้งสามประเทศในทีมเดียวกัน คราวนี้ถึงคราที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารอย่างเดียวกับเพื่อนต่างชาติและเพื่อนไทย ดูเป็นสิ่งที่สนุกและท้าทายมาก โดยเฉพาะตอนที่มีกิจกรรมเที่ยวชมสถานที่ต่างๆในสงขลา แต่ละทีมมีภารกิจที่ต้องหาคำตอบและถ่ายรูปแต่ละสถานที่ที่ได้รับมอบหมาย ฉันมีความสุขมากในฐานะที่เราเป็นคนสงขลาคนหนึ่งอย่างน้อยๆเราก็สามารถให้ความรู้เกี่ยวกับบ้านเราได้อย่างภาคภูมิใจ ในวันนั้นเรียกว่าได้ว่าเป็นไกด์จำเป็นโดยปริยาย แต่เป็นสิ่งที่เต็มใจทำ การได้เห็นเพื่อนๆต่างแดนมีความสุขเราก็สุขใจไปด้วยหลังจากนั้นแต่ละกลุ่มก็ต้องกลับมาทำงานนำเสนอ 


ยิ่งฉันได้สัมผัสการทำงานของเพื่อนต่างชาติและเพื่อนไทยในแต่ละคน ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองยิ่งต้องพัฒนา เพราะเขามีทั้งความกระตือรือร้น ความคิดสร้างสรรค์ รูปแบบการออกแบบการนำเสนอที่แตกต่าง บางสิ่งบางอย่างเราเองก็แทบไม่เคยทราบมาก่อน เราทุกคนที่เข้าร่วมงานครั้งนี้อยู่ร่วมกันจนกระทั่งวันสุดท้าย ในวันนี้พิธีปิดปิดได้อย่างอลังการตระการตา การแสดงของแต่ละมหาวิทยาลัยทั้งสามประเทศงดงามยิ่ง เราทุกคนได้นั่งพูดคุย รับประทานอาหารเย็น จนถึงเวลาที่ต้องร่ำลา บางคนถึงกับร้องไห้เพราะผูกพันกับประเทศไทย การเข้าร่วมครั้งนี้เป็นประสบการณ์ใหม่ในชีวิตซึ่งไม่รู้จะหาแบบนี้ได้อีกไหม ฉันได้เรียนรู้ในหลายๆด้าน ทั้งในตอนแรกที่ฟังสำเนียงเพื่อนต่างชาติแทบไม่ค่อยออกเลย แต่พอยิ่งร่วมกิจกรรมด้วยกันยิ่งฟังถนัด ง่ายต่อเข้าใจมากขึ้น รวมทั้งยังได้ผูกมิตรไมตรีกับเพื่อนใหม่ ดีใจและมีความสุขมากๆ ความทรงจำครั้งนี้จะไม่ลืมเลือนไปจากใจ

                สุดท้ายนี้ขอขอบคุณอาจารย์นกที่ให้โอกาส ขอบคุณพี่สาที่คอยช่วยประสานงาน ขอบคุณมหาวิทยาลัยที่ให้การสนับสนุน ขอบคุณผู้ร่วมทีมทั้งต้นและน้องกิ๊กที่ร่วมกันทำงานลุล่วงไปด้วยดี




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น