วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ชีวิตติดโรงแรม (ปฐมบท)





                                                 





                                                    

ปฐมนิเทศรับน้องสู่ Front Office

      เช้าวันนั้นตื่นเต้นมากค่ะ เมื่อคืนก็นอนไม่ค่อยหลับ เพราะลืมใส่โซฟี (ล้อเล่นค่ะ) ตื่นตั้งแต่ตีสีค่ะ จำได้ มาเดินทำมิวสิคแต่หัวรุ่งเลยทีเดียว อาบน้ำแต่งตัว ไปรอรถตอนหกโมงครึ่งค่ะ ต๊ายตาย!! ภาพที่เห็นมีเด็กฝึกงานมารอรถเยอะมาก ประมาณ 60 คนได้กระมัง อะไรมันช่างเยอะมากมายปานนี้ สืบรู้ทีหลังว่ามาจากหลายๆที่มากค่ะ ดุสิตธานี มอ.ภูเก็ต ราชภัฎ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มช. Etc. นี่มาฝึกงานหรือ รอสอบโอเน็ตค่ะเนี่ย
        ถึงโรงแรมก็เข้าปฐมนิเทศเลยค่ะ ทำไปทำมารอบนี้มีเราคนเดียวที่ฝึกตำแหน่ง Front ค่ะ ตื่นเต้นมากค่ะ ตอนขานชื่อ เด่นสิคะผู้ชายชื่อสุวนันท์อะค่ะ และที่สำคัญ ผู้ชายฝึก Front ไม่ต้องมาถามกรูค่ะ ทราบค่ะ ตูเป็นตุ๊ดL


        ช่วงบ่ายเป็นการแยกไปตามแผนกค่ะ พี่เค้าพาเราไปปล่อยไว้หน้า Front จับใส่ชุดไทยเรียบร้อย ค่ะ วันแรก มีพี่กุ๊กไก่ เป็นพี่ supervisor (พี่คนนี้นี่แหละผลักดันให้เราได้ทำงานที่นี่) พี่เค้าพาเราเดินรอบๆโรงแรมแนะนำเราให้ทุกคนรู้จัก งานหินของวันนี้คือ จำชื่อพี่ยังไงให้ได้หมดค่ะ เนี่ย!!

     เวลาซุปตาร์มาถึงแล้วค่ะ คือ ทุกๆ บ่ายสองโมงที่แผนก Front Office (FO) เค้าจะมีการประชุม Brief งานกันค่ะ เราก็เข้าร่วมด้วย พี่เค้าก็แนะนำนะค่ะ ว่าหนูชื่อ สุวนันท์ มาจากมหาวิทยาลัยทักษิณค่ะ เรียกเสียงฮือฮาได้พอสมควร ผู้ชายอะไรชื่อสุวนันท์ล่ะคะ การตามใจแม่นี่ ภาระลูกจริงๆชื่อนี้ แต่ในทางกลับกันเป็นประโยชน์มากเลยค่ะ พี่ๆทุกคนจำเราได้ เอ็นดู และแซวเราตลอดเลยค่ะ พาลทำให้บรรยากาศในการทำงานวันแรกของหนูผ่อนคลายไปมากทีเดียว ขอบคุณคุณแม่ด้วยนะคะ ที่ตั้งชื่อหนูว่าสุวนันท์ เลิศๆๆค่ะ


        ที่แผนกนี้จะได้ฝึกงานทั้งหมดเป็นแบ่งสามหน้าที่ค่ะ คือ GRO หรือ Guest Relation Officer ตำแหน่งนี้เป็นงานคนสวยค่ะ ต้อนรับแขก เสิร์ฟเครื่องดื่ม เตรียมพวงมาลัยต้อนรับ อำนวยความสะดวกส่งแขกขึ้นห้อง งานในฝันของดิชั้นเลย GRO จะมีเฉพาะผู้หญิงนะคะ ด้วยเนื้องานที่ต้องอาศัยความงามอย่างไทย ความละเอียดประมาณนี้ อีกหน้าที่หนึ่งคือ GSA (Guest Service Agent)ค่ะ คืองานตรงนี้จะเครียดหน่อยตรงที่ต้อง Check in และCheck out ต้องทำงานเกี่ยวกับข้อมูลและเงินค่ะ สุดท้ายคือ GSC หรือ Guest Service Centre คือ  Operator นั่นแหละค่ะ คอยรับโทรศัพท์ และให้ความช่วยเหลือแขกในทุกเรื่อง ไม้จิ้มฟันยันเรือรบค่ะ ทำไมต้องแยอะขนาดนั้น เพราะเราเป็น ห้าดาวไงคะ






        ยอดฝึกงานตำแหน่ง GRO สองเดือนค่ะ GSA อาทิตย์นึง และก็ GSC เดือนครึ่งค่ะ ทำไมแบ่งเป็นแบบนี้เหรอคะ ไว้ติดตามในบท offered to work นะคะ ความลับอยู่ตรงนั้นค่ะ

-----------------------

หมายเหตุ ข้างบนเป็นบันทึกการฝึกงานของยอดซึ่งฝึกที่โรงแรมเลอเมอลิเดียน ภูเก็ต 1 ภาคการศึกษา และได้งานทำหลังจากการฝึกงานสิ้นสุดลง นับเป็นตัวอย่างของรุ่นพี่ที่ทำงานดีจนได้รับการเสนองานจากสถานประกอบการ สมควรที่น้องๆจะได้ดูเป็นตัวอย่างอย่างยิ่ง

-------------------------

วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ข้าวตอก






อะไรเอ่ย "ตากแดดสด รดน้ำเหี่ยว"

วันนี้ขอเสนอเรื่องราวของ ข้าวตอก

ปกติเรื่องของข้าวตอกเป็นเรื่องนอกเหนือความสนใจของเรา เรามักจะนึกถึงข้าวตอกแค่ตอนช่วงเข้าพรรษาที่บรรดาชาวพุทธมักนำไปถวายวัด ทุกๆปีตั้งแต่เด็กที่บ้านมักซื้อข้าวตอกในช่วงเข้าพรรษา เรามักจะมองมันแล้วก็นึกว่า ทำไมมันไม่อร่อยเลยเนี่ย เอาไปทำประโยชน์อะไรได้บ้าง นอกจากเอาไปวัด



จนเมื่อไปเข้าค่าย Art for All เราเพิ่งรู้ความจริงอันยิ่งใหญ่ (เหรอ?) ว่าข้าวตอกสามารถนำมาร้อยมาลัยได้ !! 

โอ้ว...ไม่อยากเชื่อเลย ข้าวตอกเนี่ยนะ 

ฐานมาลัยข้าวตอก เลยเป็นฐานที่เราให้ความสนใจมาก (ปนไปด้วยความรู้สึกที่ว่าทำไมเราไม่รู้จักมันให้ดีพอก่อนหน้านี้เนี่ย 



รู้สึกตัวประหนึ่งเป็น "กบนอกกะลา" ในคราเดียวกัน 

วิทยากรสอนน้องๆร้อยข้าวตอก เหมือนกับเวลาร้อยดอกมะลิ ซึ่งดูเผินๆดูเหมือนกันมาก หลังจากนั้นก็สามารถนำมาทำเป็นอุบะ หรือมาลัยข้าวตอกได้เลย 

ภาคใต้ไม่มีการร้อยมาลัยข้าวตอกเลย ป้าแมวบอกว่ามันเป็นวัฒนธรรมของภาคกลาง อีสาน และเหนือ (แล้วภาคใต้หายไปไหน) ด้วยความคิดที่ว่ามาลัยข้าวตอกสามารถเก็บไว้ได้นานประมาณปีครึ่ง (!!) 
ในขณะที่การร้อยดอกไม้สดไม่กี่วันก็เหี่ยวเฉา




ข้าวตอกถึอเป็นของบูชาระดับสูงด้วยล่ะ เลยมีการนำมาถวาย /บูชาพระ ในบางท้องถิ่นข้าวตอกจะอยู่ในพานดอกไม้วันไหว้ครูเนื่องจากเป็นเคล็ดว่าให้รุ่งเรืองเฟื่องฟู ขยายออกเหมือนข้าวตอก (จากเว็บชีววิทยาราชมงคลhttp://www.neutron.rmutphysics.com/biology/index.php?option=com_content&task=view&id=20&Itemid=8 )




หลังจากกลับมาค้นคว้าเรื่องข้าวตอก ชาวพุทธ(ที่ห่างไกลศาสนา)อย่างเราเพิ่งรู้ว่า 4 สิ่งสำคัญในการบูชาพระ คือ ข้าวตอก ดอกไม้ ธูป เทียน

และพานในพิธีขันหมาก ก็จะมีดอกไม้ที่มีชื่อมงคล เช่น บานไม่รู้โรย ดาวเรือง ดอกรัก และข้าวตอก รวมอยู่ด้วย

ประโยชน์ช่างมากมายจริงๆ  กลับบ้านมาสอบถามยายถึงประโยชน์ของตอก
ยายบอกว่า ตอกสามารถกินกับน้ำกะทิทุเรียนก็ได้ หรือเอามาผัดกับน้ำตาลทรายเป็นของหวานก็ได้ 
หรือจะเอาข้าวตอกมาซาวมะพร้าว ใส่เกลือและน้ำตาลทราย กินง่ายๆแบบนี้ก็ได้อีกเหมือนกัน

เราได้เรียนรู้ว่าเรื่องราวบางอย่างแม้จะใกล้ตัว แต่หากไม่ใส่ใจ เราก็แทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันเลย  
ขอบคุณค่าย Art for All ที่เปิดมุมมองให้เห็นวัฒนธรรมไทยต่างภาคในครั้งนี้

ขอขอบพระคุณยิ่ง ด้วยใจจริงที่กรุณา ชื่่นจิตเป็นหนักหนา ขอขอบพระคุณ ๆ (ซ้ำ 3 จบ :)

วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ห้องสมุดฟุตบาท






เมื่อปลายมีค. เราไปสถานีหัวลำโพง และสะดุดตากับห้องสมุดฟุตบาท ซึ่งเป็นความคิดมาจากคุณโหน่ง วงทนงค์ จากรายการเจาะใจที่เชิญเหล่าคนดังมาร่วมจับคู่ทำความดี เราดูเจาะใจตอนห้องสมุดฟุตบาทจาก Youtube และติดใจความคิดบรรเจิดของเค้าที่ตั้งใจทำให้การอ่านเกิดขึ้นได้ทุกที่





ตอนนั้นสิ่งที่คิดคือนึกสงสัยว่ามันจะประสบความสำเร็จเหรอ การที่ตั้งกล่องหนังสือเอาไว้โดยมีกติกาว่าGive 1 Get 1 หากหยิบเอาไปอ่าน 1 เล่มก็ให้ใส่คืน 1 เล่ม ดูแล้วเป็นไอเดียง่ายๆที่ทำได้ไม่ยาก

เมื่อได้แวะเวียนไปสถานีหัวลำโพงเลยไม่รอช้าที่จะต้องมองหากล่องและมุมอ่านหนังสือห้องสมุดฟุตบาท




เอ่อ...จะบอกว่ารู้สึกผิดหวังมาก เพราะในตู้ไม่มีหนังสืออยู่เลย และหนังสือที่ตั้งอยู่ที่มุมอ่านหนังสือก็เก่ามาก เราคิดว่าคงไม่มีใครสนใจจะหยิบมันไปอ่านแน่ๆ เพราะขนาดคนชอบอ่านอย่างเราก็ขอปฎิเสธ หนังสือที่เราเห็นเป็นหนังสือลลนา สมัยนู้น (คนรุ่นเราก็แทบไม่รู้จักแล้ว เพราะมันหยุดผลิตมาร่วม 20 กว่าปี)  นอกจากนั้นก็เป็นหนังสือของหน่วยงาน ซึ่งก็ไม่ได้ชวนให้อ่านน่ะนะ เพราะมันเป็นการรายงานว่าหน่วยงานนั้นๆทำอะไรมาบ้าง (มันน่าสนใจตรงไหน)

เราเลยตั้งเป้าไว้ว่าหากเรามาหัวลำโพง เราจะมาสังเกตใหม่ เผื่อวันที่เรามาเป็นวันที่ทุกคนเอาหนังสือไปอ่านกันหมด และยังไม่มาคืน




เมื่อขึ้นกทม.เพื่อต่อไปยังปากช่อง นครราชสีมา กับนิสิต 13 คน เรามีความหวังว่าจะเห็นหนังสือดีๆเต็มตู้ ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็พกคู่สร้างคู่สมมาจากบ้าน 3 เล่ม และซื้อเพิ่มที่สถานีรถไฟหาดใหญ่อีก 3 เล่ม กะว่าซื้อมาอ่านบนรถไฟเสร็จแล้วก็จะได้ใส่ตู้ห้องสมุดฟุตบาทเพื่อให้คนอื่นๆที่มานั่งรอรถไฟได้อ่าน





นับว่าคุ้มราคาคู่สร้างคู่สมมาก เพราะบนรถไฟ เราแจกจ่ายให้นิสิตอ่านและอ่านกันทั่วหน้า เรียกว่าคุ้มราคา 20-30 บาท (ตอนนี้คู่สร้างคู่สมขึ้นราคา 30 บาทแล้ว โดยที่ไม่ขึ้ันมาร่วม 20 ปี เป็นหนังสือดีอีกเล่มนึงที่เล่าเรื่องราว ประสบการณ์ชีวิตหลากหลาย น่าสนใจ เราอ่านจนติดมันไปแล้ว หลายคนบอกว่าดวงจากคส.คส.แม่นมากด้วยล่ะ)




เมื่อมาถึงมุมอ่านหนังสือ ผิดหวังอ่ะ ไม่มีหนังสือเลย เราเลยหยิบคู่สร้างคู่สมของเราจากกระเป๋าเดินทางมาวางเอาไว้ นิสิตมองด้วยความแปลกใจ อาจารย์ทำอะไรน่ะ

เราเคยเห็นฝรั่งหลายคนเมื่ออ่านหนังสือเสร็จแล้ว เค้าก็จะวางไว้เพื่อให้คนอื่นได้อ่านต่อ (และจริงๆแล้วคงจะได้ไม่ต้องหนักกระเป๋าขากลับด้วยนะ) เราว่าเป็นความคิดที่ดี เลยทำมั่ง

ตกกลางคืน เนื่องจากต้องพักแถวถนนรองเมือง เราเลยแว่บมาสำรวจหนังสือที่เราตั้งเอาไว้

โอ้ว...มันหายไปหมดแล้ว !


เราอยากให้โครงการห้องสมุดฟุตบาทได้ติดตามกล่องหนังสือที่วางเอาไว้ตามจุดต่างๆทั่วกทม.แล้วประเมินผล ดูความคืบหน้า หรือเติมหนังสือใส่กล่อง รวมทั้งรณรงค์ให้คนเห็นความสำคัญของการมีกล่องหนังสือทุกทิศ ทั่วไทย

สงสัยจังว่าแบบนี้ "กทม. เมืองหนังสือโลกปี 2013 จะประสบความสำเร็จแค่ไหน"
 เห็นนิสัยการอ่านแต่ไม่แบ่งปันแล้วหนักใจ


วันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

หนังสือดีของผู้อ่าน: The Power of Half

เราคิดมานานหลายปีแล้วว่าจะเขียนแนะนำหนังสือส่งไปลงคอลัมน์ "หนังสือดีของผู้อ่าน" ในหนังสือขวัญเรือน ได้แต่คิดๆ ไม่ลงมือทำ ฮ่าๆ เป็นซะแบบนั้นคนเรา

เมื่อต้องมาเขียน review เรื่อง The Power of Half พลังแห่งการแบ่งครึ่ง เพื่อลงวารสารวิชาการของคณะมนุษยศาสตร์ เราเลยปิ๊งส์!! ขึ้นมาว่าเราน่าจะเอาสิ่งที่เราเขียนมาทำเป็นฉบับย่อให้เหลือ 1 หน้า เพื่อส่งไปลงคอลัมน์นี้ อย่างน้อยเราจะได้ชื่อว่าได้ทำสิ่งที่ตั้งใจว่าจะทำสำเร็จไป 1 อย่าง

เฮ้...เราพบว่าการเขียนย่อความเริ่มเป็นเรื่องยากสำหรับเรา ไม่รู้จะตัดตรงไหน จากความยาวที่เขียนไว้ร่วม 3 หน้า เหลือ 1 หน้า โอ้...ทำไมมันยาก (อืม...หรือเราเริ่มเป็นคนเขียนยืดเยื้อเนี่ย)

เทอมหน้าเราจะสอนวิชา Academic Reading เรากะว่าหากหาต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ เราอยากได้เรื่องนี้เป็นหนังสือนอกเวลา หรือไม่ก็อาจจะใช้เรื่อง Pay It Forward ซึ่งมีเนื้อหาเรื่องการให้แรงบันดาลใจในการทำความดีคล้ายๆกัน (เรื่องพลังแห่งการแบ่งครึ่งก็กล่าวถึงหนังเรื่องนี้ไว้เหมือนกัน)

เอาล่ะ นี่คือเวอร์ชั่นที่เราส่งไปขวัญเรือน เพี้ยงขอให้ได้ลงในเร็ววัน :) 

----------------------

เมื่อเห็นหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกที่ร้านหนังสือ ดิฉันรู้สึกติดใจในชื่อเรื่อง The Power of Half พลังแห่งการแบ่งครึ่ง เกิดคำถามกับตัวเองว่าพลังแห่งการแบ่งครึ่งคืออะไร ผู้เขียนแบ่งครึ่งอะไร และเกิดความเปลี่ยนแปลงกับผู้ที่ได้รับการแบ่งครึ่งอย่างไรบ้าง เมื่อได้อ่านเรื่องนี้มันเหนือความคาดหมายไปมาก เพราะสิ่งที่ผู้เขียนเลือกที่จะแบ่งครึ่งคือ บ้าน

The Power of Half เป็นการบันทึกประสบการณ์จริงของครอบครัวหนึ่งในอเมริกาประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ลูกวัยรุ่น 2 ซึ่งมีฐานะดี พ่อแม่มีอาชีพการงานที่ดี และช่วยเหลือสังคมตามที่มีโอกาส พวกเขาดำเนินชีวิตตามแบบ American Dream ทั่วไป นั่นคือมีบ้านหลังใหญ่ มีการศึกษาดี ชีวิตดำเนินไป จนเมื่อลูกสาววัย 14 ปี เห็นคนไร้บ้านตามสี่แยกตอนที่ครอบครัวของเธออยู่ในรถที่ติดแอร์เย็นฉ่ำ เธอเริ่มตั้งคำถามว่าครอบครัวของเธอจะสามารถช่วยเหลืออะไรคนจนได้บ้าง เนื่องจากครอบครัวของเธอเป็นครอบครัวประชาธิปไตย ปัญหานี้เลยถูกนำมาพูดคุยกัน เมื่อแม่ของเธอถามว่า หากจะช่วยคนยากจนก็สามารถทำได้โดยการขายบ้านและเอาเงินครึ่งหนึ่งไปช่วยการกุศล อย่างไม่น่าเชื่อที่ความคิดนี้ได้รับความเห็นชอบ ทุกคนเลยต้องมาหาวิธีขายบ้าน และคิดกันว่าจะเอาเงินที่ขายบ้านได้ไปช่วยองค์กรไหนและจะช่วยเหลือประเทศอะไร ฟังดูเหมือนจะสวยหรู แต่ว่าการขายบ้านไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในอเมริกา รวมทั้งบ้านยังขายไม่ได้ราคาอย่างที่ตั้งใจเอาไว้ เรื่องราวต่อจากนั้นเป็นการแก้ปัญหาและการเรียนรู้ร่วมกันของครอบครัวนี้ที่มุ่งมั่นแบ่งปันตามความเชื่อของครอบครัวตนเอง

เหตุที่ทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จับต้องได้ ไม่ไกลตัวผู้อ่านเกินไปนัก คือนอกจากเป็นการเล่าประสบการณ์โดยผ่านพ่อแล้ว
ฮันนา ลูกสาวก็เขียนร่วมในหนังสือนี้ด้วยโดยใช้มุมมองจากวัยรุ่นทั่วไปที่มุ่งมั่นในการทำตามความตั้งใจของตนให้สำเร็จ เธอแนะนำว่าความคิดเรื่องการขายบ้านของเธออาจจะดูสุดขั้วเกินไปสำหรับคนอื่นๆ ในฐานะคนทั่วไปที่ต้องการแบ่งปันก็สามารถทำได้ง่ายๆ เช่นอาจสละเวลาดูทีวี เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์จากสามชั่วโมงต่อวัน เอาเวลาครึ่งหนึ่งไปบำเพ็ญประโยชน์ ก็ถือเป็นการแบ่งครึ่งแล้ว หรือสละข้าวของที่ตนมีก็ถือเป็นการแบ่งครึ่งได้เหมือนกัน การหาซื้อข้าวของเพียงครึ่งเดียวที่อยากได้แล้วนำเงินอีกครึ่งไปมอบให้องค์กรการกุศล นั่นก็ได้อีกเหมือนกัน


ฮันนาได้ให้ความคิดเห็นดีๆไว้ว่าในการขอบคุณคนที่ทำให้เราเกิดการเปลี่ยนแปลง เราก็จะเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เพราะการที่เราคิดถึงพวกเขาในแง่บวก ก็ทำให้จิตใจเรามิพลังและรู้จักพลังแห่งการให้ นั่นคือการให้กำลังใจ  เรื่องนี้ทำให้ดิฉันนึกถึง The Staff’s Appreciation Week  ที่มหาวิทยาลัย Pennsylvania State University  อเมริกา โดยในสัปดาห์นี้ที่ตึกกิจการนิสิตจะมีการตั้งโต๊ะพร้อมการ์ดเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เขียนขอบคุณบุคลากรหรืออาจารย์ หากเขียนครบ 5 ใบก็จะได้รับของที่ระลึกเล็กๆน้อยๆ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะจัดส่งการ์ดขอบคุณไปให้บุคคลที่ถูกเขียนถึง ดิฉันได้ร่วมโครงการนี้ด้วยและพบว่าหลังจากนั้นประมาณ 1 อาทิตย์บุคคลที่ดิฉันเขียนถึงได้ส่งอีเมลมาเพื่อขอบคุณและบอกว่าพวกเขารู้สึกประหลาดใจเพียงใดที่การกระทำเพียงเล็กน้อยของพวกเขามีคนที่ชื่นชมการทำงาน มันทำให้พวกเขาทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้นและทำให้วันที่ได้รับการ์ดพวกเขามีความสุขมาก ดิฉันคิดว่าเมื่อได้เขียนขอบคุณใครบางคน มันทำให้เรามองบุคคลอื่นในแง่บวกและพยายามหาข้อดีของคนนั้นมาเขียน เป็นการเปิดทัศนคติแง่บวกของเรา ในขณะที่ผู้รับซึ่งไม่ได้คิดว่าจะมีคนคิดถึงการกระทำดีเล็กๆน้อยของเขาก็ดีใจและภูมิใจในตัวเองที่มีคนเห็นสิ่งที่พวกเขาทำ
หากใครกำลังมองหาแรงบันดาลใจในการทำดี หรือทำสิ่งที่ตนเองมุ่งมั่นแนะนำว่าต้องอ่านเรื่องนี้เลยค่ะ

-------

วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

The Power of Half: พลังแห่งการแบ่งครึ่ง







เมื่อเห็นหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกที่ร้านหนังสือ ดิฉันรู้สึกติดใจในชื่อเรื่อง The Power of Half พลังแห่งการแบ่งครึ่ง ดิฉันเกิดคำถามกับตัวเองว่าพลังแห่งการแบ่งครึ่งคืออะไร ผู้เขียนแบ่งครึ่งอะไร และส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับผู้ที่แบ่งครึ่งอย่างไรบ้าง

ก่อนจะซื้อเล่มนี้ดิฉันรู้สึกลังเลมาก ด้วยความรู้สึกที่ติดจะมีอคติเล็กน้อยต่อหนังสือแปล ว่าแปลแล้วเราอาจจะอ่านสะดุดเนื่องจากสำนวนกลิ่นนมเนย และอยากจะซื้อฉบับภาษาอังกฤษอ่านมากกว่า แต่อย่างหลังทำได้ยาก ก็เลยลองพลิกๆอ่านคำนิยมของหนังสือเล่มนี้ เมื่อซื้อมาไม่มีคำว่าผิดหวัง จนอยากแนะนำหนังสือเล่มนี้ให้คนอื่นได้อ่านด้วย

อาจารย์ณฐพงศ์ ซึ่งรับผิดชอบการทำวารสารคณะ รู้ว่าดิฉันเป็นคนอ่านหนังสือเยอะ เลยขอให้เขียน review หนังสือหนึ่งเล่ม

ปิ๊งส์!! เสียงหลอดไฟในหัวเกิดประกาย ดิฉันขอเลือกหนังสือเล่มนี้แหละ เผื่อบังเอิญมีใครได้อ่านแล้วจะติดใจเหมือนดิฉันจนแนะ
นำต่อๆกันไป สำหรับดิฉันเรื่องนี้เหมือนเป็นหนัง Pay It Forward ในภาคหนังสือ











เมื่ออ่านก็ยิ่งติดใจและได้เรียนรู้แนวคิดของผู้เขียนและครอบครัวด้านแนวคิดจิตอาสา ขณะที่กำลังละเลียดอ่าน
ดิฉันคิดว่ามันคงเป็นหนังสือให้แรงบันดาลใจโดยทั่วไป ที่คงบอกให้ผู้อ่านแบ่งครึ่งสิ่งของที่ตนเองมี น่าจะเป็นหนังสือ how to มองโลกในแง่ดีอย่างที่เห็นตามท้องตลาด แต่เมื่อได้อ่านอย่างตั้งใจ ทำให้รู้ว่าเรื่องนี้มีดีกว่านั้น นั่นคือได้เห็นวิธีคิด กระบวนการทำงาน การช่วยเหลือ ร่วมคิด ของสมาชิกในครอบครัว นอกจากนี้ยังรวมถึง การต่อสู้กับคำถามของสังคม ความท้อแท้ และ
สายตาประหลาดๆของเพื่อนฝูงหรือบุคคลภายนอกที่มองครอบครัวนี้

The Power of Half เป็นการบันทึกประสบการณ์จริงของครอบครัวหนึ่งในอเมริกาประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ลูกวัยรุ่น 2 คนคือฮันนา และโจเซฟ ซึ่งเป็นครอบครัวที่มีฐานะดี พ่อแม่มีอาชีพการงานที่ดี และช่วยเหลือสังคมตามที่มีโอกาส พวกเขาดำเนินชีวิตตามแบบ American Dream ทั่วไป นั่นคือมีบ้านหลังใหญ่ มีการศึกษา การงานที่ดี จนเมื่อฮันนาเห็นคนไร้บ้านตามสี่แยกตอนที่ครอบครัวของเธออยู่ในรถที่ติดแอร์เย็นฉ่ำ เธอเริ่มตั้งคำถามว่าครอบครัวของเธอจะสามารถช่วยเหลืออะไรคนจนได้บ้าง เนื่องจากครอบครัวของเธอเป็นครอบครัวประชาธิปไตย ปัญหานี้เลยถูกนำมาพูดคุยกัน
เมื่อแม่ของเธอถามว่า หากจะช่วยคนยากจนก็สามารถทำได้โดยการขายบ้านและเอาเงินครึ่งหนึ่งไปช่วยการกุศล อย่างไม่น่าเชื่อที่ความคิดนี้ได้รับความเห็นชอบ ทุกคนเลยต้องมาหาวิธีขายบ้าน และคิดกันว่าจะเอาเงินที่ขายบ้านได้ไปช่วยองค์กรไหนและจะช่วยเหลือประเทศอะไร ฟังดูเหมือนจะสวยหรู แต่ว่าการขายบ้านไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในอเมริกา รวมทั้งบ้านยังขายไม่ได้ราคาอย่างที่ตั้งใจเอาไว้ เรื่องราวต่อจากนั้นเป็นการแก้ปัญหาและการเรียนรู้ร่วมกันของครอบครัวนี้ที่มุ่งมั่นแบ่งปันตามความเชื่อของครอบครัวตนเอง

ครอบครัวนี้มีทั้งช่วงเวลาสุขทุกข์กับประสบการณ์ครั้งใหญ่ที่ได้เปลี่ยนแปลงความคิดของครอบครัวพวกเขาไปตลอดกาล ไม่ว่าจะเป็นฮันนาที่ต้องเรียนรู้การออกไปพูดต่อหน้าสาธารณะเรื่องโครงการของเธอ และครอบครัวเธอต้องคอยตอบคำถามจากคนรอบข้าง การเสียเพื่อนหรือคนรู้จักที่เคลือบแคลงการกระทำของครอบครัวพวกเธอ

ความคิดเรื่องการขายบ้านของเธออาจจะดูสุดขั้วเกินไปสำหรับคนอื่นๆ ในฐานะคนทั่วไปที่ต้องการแบ่งปันก็สามารถทำได้ง่ายๆ เธอแนะนำว่าเราอาจสละเวลาดูทีวี เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์จากสามชั่วโมงต่อวัน เอาเวลาครึ่งหนึ่งไปบำเพ็ญประโยชน์ ก็ถือเป็นการแบ่งครึ่งแล้ว หรือสละข้าวของที่ตนมีก็ถือเป็นการแบ่งครึ่งได้เหมือนกัน รวมทั้งการหาซื้อเครื่องสำอางเพียงครึ่งเดียวแล้ว
นำเงินอีกครึ่งไปมอบให้องค์กรการกุศล นั่นก็ได้อีกเหมือนกัน


การให้คำจำกัดความAmerican Dream ใหม่
จากความต้องการแสวงหาทรัพย์สินเพื่อความสะดวกสบายของตนเอง การเลื่อนฐานะและการเงินด้วยการทำงานอย่างหนัก เรื่องนี้พยายามที่จะตีโจทย์ความฝันแบบอเมริกันใหม่เสียใหม่ว่านี่เป็นสิ่งที่ดีแล้วหรือ ผู้คนไม่ควรจะเรียนรู้ว่าสามารถหาเงินได้เท่าไร (How much you can get) แต่ควรคิดใหม่ว่าเราได้แบ่งปันเพื่อผู้อื่นเท่าไหร่ (How much you can give?)
วิธีคิดแบบนี้ทำให้การมองแค่ตนเอง กลายเป็นการรู้จักเผื่อแผ่ผู้อื่น ผู้คนรู้จักการให้มากขึ้น และตั้งคำถามกับตัวเองมากขึ้นว่าการให้เงินทองเป็นเรื่องเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับการใช้เสียสละเวลาและแรงกายในการบำเพ็ญประโยชน์ รวมทั้งการสอนลูกหลานให้รู้จักเป็นอาสาสมัครตั้งแต่เล็กจะเป็นการบ่มเพาะนิสัยการรู้จักเสียสละของพวกเขา  ดังที่อบิเกล บูเร็น นักเขียนคอลัมน์ กล่าวไว้ว่า “ ถ้าอยากให้เท้าทั้งสองข้างของลูกๆยังติดดินอยู่ จงวางความรับผิดชอบอะไรสักอย่างลงบนทั้งสองบ่าของเขาบ้าง“ (หน้า 102)
เมื่อครอบครัวซัลเวนต้องย้ายบ้านออกจากบ้านหลังใหญ่ก็ได้พบว่าได้สะสมของที่ไม่ได้ใช้ไว้มากมาย และเมื่อต้องทิ้งของต่างๆพวกเขาก็รู้สึกว่านอกจากได้ลดขนาดบ้านก็ยังได้ลดขนาดของจำเป็นในชีวิตลงด้วย ความคิดลักษณะนี้เกิดกับผู้คนทั่วไปที่ยิ่งเวลาผ่านไปก็พบว่าตัวเองได้สะสมสิ่งต่างๆไว้มากมาย โดยคิดเอาเองว่าวันข้างหน้าจะได้ใช้ หรือสะสมไว้เพื่อมูลค่าเพิ่มในอนาคต พวกเรามักพบทีหลังว่าเรามักจะไม่ได้ใช้ของเหล่านั้นและต้องทิ้งมันไปในท้ายที่สุด

ฮันนาได้ให้ความคิดเห็นดีๆไว้ว่าในการขอบคุณคนที่ทำให้เราเกิดการเปลี่ยนแปลง เราก็จะเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เพราะการที่เราคิดถึงพวกเขาในแง่บวก ก็ทำให้จิตใจเรามิพลังและรู้จักพลังแห่งการให้ นั่นคือการให้กำลังใจ  เรื่องนี้ทำให้ดิฉันนึกถึง The Staff’s Appreciation Week? ที่มหาวิทยาลัย Pennsylvania State University รัฐเพนซิลวาเนีย อเมริกา โดยในสัปดาห์นี้ที่ตึกกิจการนิสิตจะมีการตั้งโต๊ะพร้อมการ์ดเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เขียนขอบคุณบุคลากรหรืออาจารย์ หากเขียนครบ 5 ใบก็จะได้รับของที่ระลึกเล็กๆน้อยๆ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะจัดส่งการ์ดขอบคุณไปให้บุคคลที่ถูกเขียนถึง ดิฉันได้ร่วมโครงการนี้ด้วยและพบว่าหลังจากนั้นประมาณ 1 อาทิตย์บุคคลที่ดิฉันเขียนถึงได้ส่งอีเมลมาเพื่อขอบคุณและบอกว่าพวกเขารู้สึกประหลาดใจเพียงใดที่การกระทำเพียงเล็กน้อยของพวกเขามีคนที่ชื่นชมการทำงาน มันทำให้พวกเขาทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้นและทำให้วันที่ได้รับการ์ดพวกเขามีความสุขมาก ดิฉันคิดว่าเมื่อได้เขียนขอบคุณใครบางคน มันทำให้เรามองบุคคลอื่นในแง่บวกและพยายามหาข้อดีของคนนั้นมาเขียน เป็นการเปิดทัศนคติแง่บวกของเรา ในขณะที่ผู้รับซึ่งไม่ได้คิดว่าจะมีคนคิดถึงการกระทำดีเล็กๆน้อยของเขาก็ดีใจและภูมิใจในตัวเองที่มีคนเห็นสิ่งที่พวกเขาได้ทำ

จากประสบการณ์การใช้ชีวิตในอเมริกา 1 ปี การได้เห็นการทำงานอาสาสมัครของคนอเมริกันทำให้ดิฉันมองเห็นภาพและความคิดของผู้เขียนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในสังคมของมหาวิทยาลัย PSU ? การทำงานอาสาสมัครไม่ใช่กระแส แต่เป็นสิ่งที่ทางมหาวิทยาลัยพยายามส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา บุคลากรได้ทำงานบำเพ็ญประโยชน์
ใน 1 ปีจะมีสองวันที่บุคลากรและนักศึกษาจะออกไปทำงานอาสาสมัครและมีการประชาสัมพันธ์ในหนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัยทั้งก่อนวันเริ่มงานและนำภาพภายหลังการทำงานอาสาสมัครมาตีพิมพ์ นั่นคือวัน The Martin Luther King’s Day และวัน ??

โดยมี www.volunteer.psu.edu ที่ใช้เป็นพื้นที่ประกาศงานอาสาสมัครภายในมหาวิทยาลัยและพื้นที่ใกล้เคียง ผู้สนใจสามารถไปลงชื่อตามกิจกรรมที่สนใจทำและเลือกเวลาที่ตนเองสะดวก เพราะกิจกรรมอย่างเดียวกันอาจจะจัดหลายช่วงเวลา ข้อดีของเว็บไซต์นี้ก็คือหากในวันทำงานจริงไม่สามารถเข้าร่วมได้ ก็สามารถเข้าไปยกเลิกก่อนวันจริงได้ รวมทั้งก่อนวันทำงานจริงก็จะมีอีเมลแจ้งเป็นระยะเพื่อเตือนผู้ลงชื่อเข้าร่วมกิจกรรม หากกิจกรรมลักษณะนี้ได้นำมาพัฒนาอย่างจริงจังในมหาวิทยาลัยของไทย คงจะเป็นการอำนวยความสะดวกกับผู้ต้องการทำงานอาสาสมัครและผู้ที่ต้องการอาสาสมัครได้เป็นอย่างดี
กิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์ของมหาวิทยาลัย PSU มีหลากหลายให้เลือกตามความสนใจ หลายอย่างน่าจะนำมาปรับใช้กับมหาวิทยาลัยของเราได้ เช่น

-          การรณรงค์การแจกถุงพลาสติกในงานแข่งกีฬาเพื่อไม่ให้ภายหลังจบงานเกิดขยะเกลื่อนกลาดทั่วไป
-          การเตรียมของขวัญปีใหม่ให้ผู้สูงอายุและเด็กตามสถานสงเคราะห์
-          การไปเยี่ยมผู้สูงอายุและทำกิจกรรมร่วมกับพวกเขาเพื่อให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นและเพื่อให้ชีวิตบั้นปลายของผู้สูงวัยมีความสุข
-          การทำงานพัฒนาเส้นทางในป่า
-          การไปเยี่ยมผู้ป่วยออทิสติกและทำกิจกรรมง่ายๆเช่นระบายสี ปั้น วาดภาพด้วยกัน
-          การบรรจุถุงยังชีพให้คนยากไร้
-          การเป็นไกด์ตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ

ดิฉันรู้สึกชื่นชมการทำงานของอาสาสมัครที่รู้จักการแบ่งหน้าที่และทำงานให้ลุล่วงไปได้ การทำงานอาสาสมัครทำให้ผู้ทำได้ฝึกทักษะความเป็นผู้นำและการเสียสละเพื่อสังคม ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เป็นที่ทุกคนควรมีเพื่อร่วมกันทำโลกปัจจุบันให้น่าอยู่มากขึ้น

"You give but little when you give our possessions. It is when you give of yourself that you truly give.”                                                       
                                       Kahlil Gibran


-----------



วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

Bookmark: The Mark of Love from SOS Kids






ฝนฟ้าอากาศที่่สงขลาช่วงนี้มัวๆ เหมือนฝนจะตก แต่ก็ไม่ได้ตกมากมายอะไร ข้อดีก็คือทำให้อากาศไม่ร้อน ไปไหนมาไหนสะดวก







วันอาทิตย์ที่ 7/07/56 พวกเรา (บิว อร ตุแว ต่วน เอกอังกฤษปี 4) ถือเป็นฤกษ์ดีไปหาน้องๆที่โสสะ (เราตั้งใจว่าจะไปหาน้องเดือนละ 2 ครั้ง อาทิตย์หน้าไปไม่ได้เนื่องจากต้องเข้าอบรม Creativity-Based Learning ของอาจารย์วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ เลยถือโอกาสไปหาน้องๆวันนี้ซะเลย)


น้องแจ๋ว (เลขาของหมู่บ้านเด็กโสสะ) เคยเล่าให้ฟังว่าแต่ละปีทางหมู่บ้านจะทำที่คั่นหนังสือเพื่อให้กับผู้อุปการะรายใหม่ๆ ปกติแจ๋วจะให้น้องๆวัยโตๆเป็นคนวาดและระบาย แต่เนื่องจากมันทำปริมาณมาก 
ดังนั้นจึงอยากให้นิสิตช่วย เราเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่ดีเพราะน้องๆหลายคนชอบวาดรูปและวาดได้สวยซะด้วย เลยบอกน้องแจ๋วว่าเราจะพานิสิตมาช่วยดูแลน้องๆและช่วยวาดด้วย 



เราไปรับกระดาษที่แจ๋วตัดไว้แล้ว สี ดินสอ ยางลบ ริบบิ้น จากแจ๋ว แล้วก็เอามาให้พี่ๆทั้ง 4 และน้องๆตัวเล็กตัวน้อยที่พอจะวาดได้แล้วช่วยกันวาด วาดหัวข้ออะไรก็ได้ สัตว์ ดอกไม้ บ้าน แล้วแต่การจินตนาการของน้องๆ 

หลังจากแจกงานแล้ว เราซึ่งไม่ได้วาดก็มาช่วยใส่ริบบิ้น และดูแลน้องๆเล็กๆที่ยังวาดไม่ได้เนื่องจากยังเล็กเกินไปด้วยการอ่านหนังสือให้ฟัง 

กิจกรรมเบาๆแบบนี้เมื่อเสร็จ เห็นสีสันที่สวยงามของที่คั่นหนังสือจากใจน้องๆ เห็นถึงความคิดบริสุทธิ์ของพวกเค้าที่สื่อออกมาจากรูปวาดทำให้รู้สึกถึงความใสของวัยที่ชอบวาดภาพ



นึกถึงตัวเองตอนเด็กๆ กิจกรรมโปรดอย่างหนึ่งก็คือวาดรูป ถึงจะไม่ได้คะแนนดี แต่มันเป็นกิจกรรมคู่กับวัยเด็กจริงๆ เรายังนึกถึงการวาดรูปอยู่เสมอ โดยเฉพาะการวาดรูปการ์ตูนประกอบเรื่องที่เราเขียน ฮ่าๆ จนป่านนี้มันก็ยังเป็นฝันอยู่

ปีที่แล้วเมื่อเราได้ไปเยี่ยม Carter Center, Atlanta เราเกิดกำลังใจและแรงบันดาลใจที่จะกลับมาเรียนศิลปะมากๆ เพราะอดีตประธานาธิบดี Jimmy Carter ของอเมริกาวัย 82 ปี เริ่มวาดรูปสีน้ำมันเมื่อวัย 72 ภาพวาดของท่านยังกับว่าเป็นศิลปินมาตลอดชีวิตนั่นเลยทีเดียวเชียว 

ฝันของเรายังไม่สาย ดูน้องๆที่สร้างสรรค์ผลงาน เราจะเป็นแบบนั้นบ้าง (เชิดหน้าอย่างมุ่งมั่น)


-------------

หมายเหตุ: ขอบใจนิสิตทั้งสี่ที่ทั้งช่วยวาดรูป ระบายสี และทำให้เราเห็นว่าการวาดรูปสวยๆไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป แค่ใส่จินตนาการเยอะๆ (ผงชูรสไม่ต้อง เอ๊ะ...เกี่ยวมั๊ย:)