วันศุกร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2564

มิโล แมวน้อยกระโดดไม่เป็น : Book Review ( Jan. 2021)

มิโล แมวน้อยกระโดดไม่เป็น: วรรณกรรมอิตาลี เขียนโดย: Costanza Rizzacasa d'Orsogna สนพ.อ่านอิตาลี ผู้แปล: นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ (2019) เราเพิ่งจะรู้จักหนังสือเล่มนี้จากน้องตาล บรรณารักษ์หอสมุด ซึ่งรู้ว่าเราชอบอ่านหนังสือวรรรณกรรมเยาวชน เพราะเวลาที่หาหนังสือวรรณกรรมเยาวชนในหอสมุดไม่เจอ เราก็มักใช้บริการ “เพื่อนช่วยหาหนังสือ” บริการดีๆ ของหอสมุด เมื่อวานไปรับหนังสือมาแล้ว หนังสือเล่มเล็กมาก ปกแข็ง หน้าปกน่ารัก เรากะว่าน่าจะอ่านจบระหว่างนั่งรถกลับบ้านจากมหาวิทยาลัย - บ้าน สัก 2 รอบ (นั่นหมายถึง 2 วัน) เย้! จบจริงๆด้วย ด้วยความที่เป็นเรื่องอ่านเพลิน ไม่ซับซ้อน แต่ให้แง่คิดที่หลายครั้งผู้ใหญ่อย่างเราหลงลืมไป เล่าย้อนไปหน่อยนึงว่าตอนเด็กๆเรามักอ่านวรรณกรรมเยาวชนญี่ปุ่นจากสำนักพิมพ์ผีเสื้อ (โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง สมุดพกคุณครู และวรรณกรรมเยาวชนของตะวันตก (เช่น ห้าสหายผจญภัย นิทานกริมม์ ) อ๊ะ ยังรวมนิทานอีสป นิทานเวตาล นิทานพื้นบ้านไทย ๆ (ซึ่งตอนเด็กหนังจักรๆวงศ์ๆ เสาร์อาทิตย์ รู้จักดีมาก ตั้งตารอ 8.00 น. เวลาของ “แก้วหน้าม้า” “หลวิชัย คาวี” อืม...สมัยเด็ก เราไม่ค่อยเห็นวรรณกรรมเยาวชนจากประเทศอื่นๆ อาจจะเพราะไม่ค่อยมีคนแปล โตขึ้นมาอี๊ก เมื่อเรียนภาษาอังกฤษ ก็ดั๊นมีนิสัยที่ว่าเมื่อรู้ภาษาอังกฤษระดับนึง ก็จะคิดว่าคนแปลวรรณกรรม / นิยาย แปลไม่ลื่น อ่านสะดุด ภาษาไม่สวย (ซึ่งให้ตัวเองแปลก็อาจจะแย่กว่า 55) เราเลยอ่านฉบับ original และเลิกบ่นเรื่องนี้ไปพักนึง เมื่ออ่านจบแต่ละเล่มก็จะภูมิใจไป 3 วัน 8 วัน (วรรณกรรมเยาวชนที่อ่านช่วงโต เช่น Matilda, แทบทุกเรื่องที่ Roald Dahl เขียน ซึ่งยังตามล่าหาอ่านให้ครบทุกเล่มอยู่จนตอนนี้) เรื่องที่ชอบมากและพบว่าวรรณกรรมของประเทศอื่นก็น่าอ่าน แต่น แต๊น...ก็จะเป็นวรรณกรรมสเปน เรื่องหอยทาก เดินช้า และกุ๊ชโฉ่ (อย่าลืมลองไปหาอ่านกันดูนะ) คนที่หาวรรณกรรมเยาวชนดีๆอ่าน ไม่ควรพลาด เขียนมาจะ 1 หน้า วนจะทั่วโลกแล้ว ก็ยังไม่ถึง “มิโล” อิ ๆ มิโล ทำให้เรานึกถึงแมวดำที่บ้าน ความเป็นแมวดำไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่ามันน่ากลัว หรือนำโชคร้าย (ใครคิดแบบนี้เราว่าล้าหลังมาก) แต่จากเรื่องนี้ ความเป็นแมวดำ ทำให้ “มิโล” ไม่ค่อยเป็นที่ต้องการสักเท่าไหร่ จนได้เจอแม่มนุษย์ผู้ใจดีเอามาเลี้ยง และคอยดูแล เด็กๆที่อ่านเรื่องนี้จะได้เห็นมุมความรักของคนเลี้ยงและลูก(แมว)เลี้ยงด้วยนะ เราว่ามันช่วยกล่อมเกลาให้คนอ่านรักสัตว์ แม้แต่สัตว์ที่ไม่น่ารัก เช่นแมงป่อง วัว มิโลมีวิธีคิดแบบเด็กๆมองบวก มีเพื่อนไปทั่ว และพยายามช่วยเหลือสัตว์ตัวอื่นๆที่มีปัญหา ปัญหาของมิโลมีแค่เรื่องความพิการที่ทำให้มันเดินโซเซ กระโดดไม่เป็น (อย่างชื่อเรื่อง) เพื่อนแต่ละตัวของมิโล มักมาพร้อมเรื่องชวนคิด เช่น วัว ซึ่งบ่นว่าคนมักชอบกินเนื้อวัว “ที่มีความสุข” ผ่านการเลี้ยงอย่างเอาใจใส่ แต่คนเหล่านั้นไม่คิดว่าวัวเหล่านั้นไม่น่าจะมีความสุข เพราะต้องถูกเอาน้ำนมไป แทนที่มันจะได้เก็บไว้เลี้ยงลูก หรือเลี้ยงมันอย่างดี แต่ก็เอามันไปกิน (อ่านถึงตอนนี้ ก็เห็นจริงด้วย เพราะเห็นads หลายอันที่บอกว่าเลี้ยงวัวอย่างดี ให้ฟังเพลง บีบนวดเต้านมให้แม่วัวมีความสุข พูดแล้วก็อยากกินมังสะวิรัติ เพื่อลดการฆ่าสัตว์นะเนี่ย) ส่วนแมว ที่คนเอาไปเลี้ยงดูเพื่อถ่ายรูปลง Instagram แต่แมวดำมักถ่ายให้สวยยาก ซ้ำคนถ่ายยังจับแมวเปลี่ยนท่าโน้นท่านี้ ถ่ายเพื่ออวดความน่ารักสัตว์เลี้ยงของตน แมวกลายเป็นผู้ประดับบารมี (อันนี้ก็จริง คนมีสัตว์เลี้ยง มักถ่ายภาพอวด และมีการซื้อแมวพันธ์ดีๆ ทำให้แมวจรจัด หรือแมวตามบ้าน ไม่ได้รับโอกาสได้รับการดูแล และหลายคนก็ทิ้งแมวเมื่อมันไม่น่ารักแล้ว (จริงอีก ! ตามวัด เยอะแยะไปด้วยแมวและหมา) เรื่อง “มิโล” เสียดสีมนุษย์และทำให้มนุษย์ดูเป็นตัวร้ายไปเหมือนกัน เหมือนเป็นการเล่าจากสัตว์เล็กๆ ที่พูดถึงผู้เลี้ยง และมนุษย์อีกแง่มุมที่น่าคิด เป็นเรื่องอ่านเพลินๆ ที่จบอย่างไม่รู้ตัว ----------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น