วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เขียนด้วยมือ สื่อด้วยใจ (version พร้อมส่ง)




ขอบคุณแม่ที่ดูแลลูกสาวคนนี้มาครึ่งชีวิต แบบอย่างที่ดีล้วนได้มาจากแม่ค่ะ แม่เป็นคนขยันและชอบทำโน่นทำนี่อยู่ตลอดเวลา เวลาที่กศน.มาอบรมงานฝีมือและงานอาชีพ จะมีแม่เข้าร่วมเสมอ ตอนนี้ที่บ้านเราเลยมีน้ำยาอเนกประสงค์ใช้เอง ตะกร้าผ้าที่แม่สาน ดอกไม้จากเกล็ดปลากระพง ฯ ล่าสุดกิจกรรมของพวกเรา คือ การประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ด้วยกัน แม่ไปสักการะพระบรมศพของร.9 มา 3 ครั้งแล้ว และนี่คืออีก 1 อย่างที่แม่อยากจะทำเพื่อท่าน พวกเราใช้เวลาว่างและช่วงดูทีวีตอนค่ำทำด้วยกัน ช่วงหลังเราเริ่มจะแผ่วๆ แต่แม่ยังหาเวลาทำอยู่เสมอ ตอนนี้ทำดอกไม้จันทน์ได้ประมาณ 400 ดอก เข้าไปแล้ว! แม่มีความสุขเสมอเมื่อได้ทำกิจกรรมใหม่ๆ

เห็นความตั้งใจของแม่ในทำกิจกรรมเหล่านี้ ทำให้เราพลอยมีความสุข และรู้สึกว่าความสุขเกิดขึ้นได้ง่าย เมื่อมีแม่อยู่ใกล้ๆ


วันอังคารที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

บันทึกส่วนตัวซายูริ: หนังสือดีช่วงซัมเมอร์ 2560





เรามีความชื่นชอบหนังสือของสนพ.ผีเสื้อมาเนิ่นนาน น่าจะเริ่มจากการที่ได้อ่านโต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง เมื่อวัยเด็ก

หนังสือ (หรือบันทึก)  "บันทึกส่วนตัวซายูริ" เล่มนี้ทำให้ได้ย้อนคิดถึง บันทึก ของตัวเอง 55 ที่ถูกทิ้งถูกขว้าง ปล่อยตามยถากรรม จะไปเที่ยวไหนไกลๆทีก็หยิบไปที แล้วแต่ว่าคว้าได้เล่มไหน ถึงจะพกสมุดบันทึก (แถมหนังสืออีกเล่มติดกระเป๋า)ทุกครั้ง ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะหยิบมาบันทึก เป็นการพกให้อุ่นใจว่าหากต้องการบันทึก ก็มีสมุดบันทึกให้อุ่นใจ


ซายูริ วัย 7 ขวบ บอกว่าให้ปฏิบัติกับบันทึกเหมือนเพื่อน พามันไปเที่ยว ออกเดินทาง เพราะ"สมุดบันทึก" มีความอยากรู้อยากเห็น แล้วสมุดบันทึกก็ยังชอบฟัง ดังนั้นพวกเราควรเขียนสมุดบันทึกบ่อยๆ มันจะได้ไม่น้อยใจ

ในกรณีนี้ อิๆ สมุดบันทึกหลายเล่มของเราอาจจะเก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋า ลาแล้วบ้านเก่า หากมีเราเป็นเจ้าของที่ไม่สนใจมันสักเท่าไหร่ ยิ่งเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ตก้าวหน้า เราก็แทบไม่ใช้วิธีเขียนบันทึกอีกเลย ใช้การพิมพ์แทน (แล้วแบบนี้จะเรียกว่าเขียนบันทึกได้ไหม เขียนเอง เอ๊ย พิมพ์เอง แบบแอบงงเล็กน้อย )



Facebook กลายเป็นบันทึกของเรา โดยเฉพาะเมื่อ FB มี function ให้สามารถเขียนโน๊ตได้ เราก็ใช้ช่องทางนี้ในการเขียนบันทึกซะมากกว่า

"บันทึกส่วนตัว" ของคนยุคประเทศไทย 4.0 ก็คงไม่ส่วนตัวอีกต่อไป เพราะหากไม่มีใครมา comment หรือ LIKE บันทึก คนบันทึกก็จะรู้สึกเฉา

คำว่า "บันทึก" + "ส่วนตัว" เลยอาจจะเป็นเรื่องแปลกของคนยุคนี้ไปแล้ว ในความรู้สึกของเราเมื่อ post ใน Facebook ก็ไม่มีความลับอีกต่อไป แถมเป็นเรื่องที่คนเขียนอยากบอก อยากได้ความคิดเห็นจากชาวบ้านอีกต่างหาก หรือไม่จริง

**ปล.ของขวัญที่ชอบให้นิสิตหรือคนต่างรุ่น หรือสิ่งที่เราอยากได้จากคนอื่นก็ยังเป็นสมุดเปล่าๆ ลายสวยๆ เอาไว้บันทึกนะ  ( อ๊ะ ต้องยก postcard ไว้อีก 1 อย่างด้วย)

วันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

Write for Mum




โครงการแลคตาซอย รักแม่ "เขียนด้วยมือ ...สื่อถึงใจ ให้แม่อ่าน"
เพียงส่งภาพถ่ายของคุณ ( นร. นศ. ประชาชนทั่วไป) กับแม่ ติดบนกระดาษ A4 พร้อมเขียนคำบรรยายใต้ภาพ ในหัวข้อ "เขียนด้วยมือ สื่อถึงใจ ให้แม่อ่าน" ไม่เกิน 10 บรรทัด
ส่งไปที่ตู้ปณ. 8 ปณฝ.คลองบางนา กท. 10262 (ผู้ส่งผลงานทุกคนจะได้รับของที่ระลึกจากบ.แลคตาซอย ส่งถึงบ้านฟรี)
Deadline: 12/8/17

------
เห็นโครงการข้างบน แล้วอยู่เฉยไม่ได้ ต้องแชร์และชักชวนให้เพื่อนๆ นิสิต คนรู้จัก ได้เขียนถึงแม่ 
อิๆ ที่สำคัญ ไม่ได้ตัดสินให้รางวัล แต่ให้ของที่ระลึกกับทุกคนที่ส่งเลย เย้ๆ

-----------------
ขอบคุณแม่ ที่คอยดูแลชีวิต มาจนถึงครึ่งชีวิต ปีนี้อายุ 42 ปีแล้ว แต่แม่ก็ยังทำกับข้าวให้กิน และถามเสมอว่าอยากกินอะไร แม่เป็นคนที่มีความสุขกับการทำกับข้าว และไม่เบื่อกับการใช้เวลาทำกับข้าวให้ทั้งยายและเรากิน 

สิ่งที่เราทำได้คือการล้างจาน 55   

นอกจากนี้แม่ก็ยังชอบเรียนรู้อีกด้วยนะ  เวลาที่ในตำบลเกาะยอมีการสอนทำงานต่างๆ   


ฉงชิ่ง มหานครแห่งประสบการณ์: พิจิตรา ปี 3 เอกจีน



เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560 ดิฉันได้เข้าร่วมโครงการ Huso - China summer camp ที่ Chongqing College of Electronic and Engineering (重庆电子工程职业学院) โครงการนี้เป็นโครงการที่สอนอะไรต่างๆมากมายให้ดิฉัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเรียน ด้านการใช้ชีวิต ด้านการเข้าสังคม ที่สำคัญเลยคือสอนให้ดิฉันสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่ๆ เพราะหลายสิ่งหลายอย่าง แตกต่างกับไทย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสถานที่ บุคคล ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ หรือ วัฒนธรรม

                สิ่งที่แน่นอนเลย ก็คือต่างที่ก็ต้องย่อมที่จะมีความแตกต่างกันในทางด้านวัฒนธรรม เช่นวัฒนธรรมการรับประทานอาหารชาวจีน จะไม่นิยมใช้ช้อนและส้อมแต่จะใช้ตะเกียบในการรับประทานอาหารในทุกๆมื้อ อีกสิ่งหนึ่งที่ดิฉันประหลาดใจมาก นั่นก็คือ เมื่อพวกเขารับประทานอาหารที่มีซุปแล้วพวกเขาจะไม่ดื่มน้ำต่ออีกไม่ว่าจะเป็นน้ำประเภทใดก็ตาม และชาวฉงชิ่งจะมีนิสัยการรับประทานอาหารคือเผ็ดจัดจ้านและรสชาติมันซึ่งต่างจากสิ่งที่ชาวไทยชอบรับประทานมาก จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สำนวนหนึ่งที่เรามีความคุ้นชินกันตั้งแต่เด็กๆนั่นก็คือเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม ดิฉันเลยได้ลองอาหารเผ็ดๆหลายอย่าง




นอกจากนี้ดิฉันมีโอกาสได้ไปทัศนศึกษาในสถานที่ต่างๆในเมืองฉงชิ่ง อีกทั้งยังได้ศึกษาระบบ E-commerce การตลาดการค้าขายออนไลน์การพาณิชย์ ในเครืออาลีบาบาที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก และถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากในประเทศจีน คนจีนส่วนใหญ่มักจะซื้อของออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นผัก เนื้อ หมู หรือแม้แต่ไข่ไก่ ไม่ค่อยเดินตามห้างสรรพสินค้าหรือตลาดเพราะคนจีนไม่ค่อยมีเวลาว่างมากนัก
ในมหาวิทยาลัยก็ได้มีการเรียนการสอนในหลายหลายเรื่องเช่น ภูมิประเทศของจีน ชื่อจีน การชงชา การทำหน้ากากจีน เป็นต้น
สิ่งหนึ่งที่ฉันมีความประทับใจเป็นอย่างมาก ก็คือการดูแลเอาใจใส่ของชาวจีนที่นั่น ดิฉันได้มีบัดดี้เป็นชาวจีน และมีเพื่อนๆชาวจีนเพิ่มมากขึ้น มีอาจารย์ชาวจีนที่มีความเป็นกันเองและดูแลในทุกๆเรื่อง ทุกคนล้วนดูแลเอาใจใส่พวกเราเป็นอย่างดี รวมไปถึงคุณลุงคุณป้าที่โรงอาหารที่คอยเอาใจใส่ช่วยเหลือในการสั่งอาหาร แม้อาหารจีนจะไม่ถูกปากสักเท่าไหร่แต่รอยยิ้มของคุณลุงคุณป้ากลับทำให้อาหารที่นั่นอร่อยขึ้นมาในพริบตา


                โครงการนี้เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ดีมากๆ ที่ดิฉันมีโอกาสได้เข้าร่วม ฉันจะไม่มีวันลืมความรู้ประสบการณ์และมิตรภาพที่ดีที่ได้รับจากโครงการนี้ ขอขอบคุณเพื่อนพี่น้อง ที่เข้าร่วมโครงการชาวไทยที่คอยช่วยเหลือกันตลอดโครงการและขอบคุณเพื่อนและอาจารย์ชาวจีน ที่คอยช่วยเหลือในด้านต่างๆ ที่สำคัญขอขอบพระคุณอาจารย์นก ดิญะพร ที่จัดโครงการดีแบบนี้ให้พวกเรา 

ภาษามือคู่ภาษาจีน : ฉงชิ่ง มหานครแห่งประสบการณ์ summer 2017






How to survive when everyone speaks Chinese to you? Body language is the only answer.
เนื่องจากเป็นคนที่รู้ภาษาจีนน้อยสุดในทีม (แอบอายที่จะบอกใครว่าเคยเรียน Basic Chinese 30 hr. เมื่อ 4 ปีก่อน และ 2 ปีก่อนเคยมาเรียนเพิ่มที่ Chongqing Univ. เพื่อสอบ HSK 1 จนได้ 190/200 คะแนน) มาคราวนี้เลยต้องใช้การชี้ๆเป็นหลัก พอนิสิตเข้า class ซึ่งสอนเป็นภาษาจีน ครูเลยหาอะไรทำ


ว่าแล้วก็ไปสั่ง Chongqing Xiaomian ซึ่งเป็น signature dish ของที่นี่ ถามราคาแล้วก็เดินไปจ่ายเงิน นึกขึ้นได้ว่ามันเยอะ น่าจะกินครั้งเดียวไม่หมด เลยเดินกลับไปชี้ที่กล่อง แม่ค้าก็ยังส่งภาษาจีนไม่หยุด แต่ก็เหมือนจะเข้าใจกัน
ราคา 5 หยวน จ่ายเงินไปแล้ว เลยต้องเดินกลับมาจ่ายเงินใหม่เพิ่มอีก 1 หยวน
ในที่สุดก็ได้ xiaomian มาเชยชม


รีบเดินกลับมาหอพัก เป้าหมายคือจะใช้ช้อนที่เอามาจากบ้าน (อิๆ) มาจีนกี่ทีๆก็ไม่ชินกับการกินทุกอย่างด้วย chopsticks เลยต้องพกอาวุธมาด้วย


รุ่นพี่ฝากถึงน้องใหม่ รหัส 60



ย้อนเวลากลับไปเมื่อปี พ.ศ.2557 นับจากวันที่ตัดสินใจสมัครเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ถึงปัจจุบัน จนตอนนี้เวลาได้ล่วงผ่านมา 3 ปีแล้ว พี่ตั้งใจที่จะมาเรียนที่มหาวิทยาลัยทักษิณ ถึงแม้ว่า คณะที่ได้วิชาเอกที่ได้อาจจะไม่ได้ใช่ที่หนึ่งในใจที่หวังเอาไว้ แต่วันนี้ระยะเวลาผ่านไป 3 ปีเต็มๆ ที่กล้าพูดเต็มปากเลยว่าวันนี้พี่ศรัทธาในคณะและหลงรักในวิชาเอกที่เรียน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

พี่ได้เรียนรู้อะไรมากมายจากสถาบันแห่งนี้ จากสาขาที่เลือกเรียน พี่ได้รับทั้งความรู้ทางวิชาการในห้องเรียนและความรู้จากการออกไปลงสำรวจพื้นที่จริง เรียนรู้การทำงานอย่างมีหลักคิด ทำงานอย่างเป็นระบบทุกอย่างที่พี่ได้สัมผัสล้วนทำให้พี่เกิดการเรียนรู้ และเป็นการเปิดโลกให้กับตัวเองมากขึ้น แน่นอนว่าการเรียนรู้จากการออกไปสำรวจพื้นที่จริง หรือการลงมือทำงาน ทุกอย่างจะสำเร็จไม่ได้หากเราขาดอาจารย์ พี่ เพื่อน และชาวบ้าน ทุกคนที่กล่าวมานั้น ล้วนแล้วแต่เป็นกัลยาณมิตรที่คอยช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาและคำแนะนำพี่มาตลอด ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้นได้ผสมผสานกันอย่างลงตัว จนทำให้คำว่าคณะมนุษยศาสตร์ฯ เต็มไปด้วยกลิ่นอายของความรักและความอบอุ่น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พี่ไม่เคยเสียใจเลยสักครั้งที่เลือกเรียนที่นี่ สถาบันที่ให้ทั้งความรู้ ทั้งประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากห้องเรียนสี่เหลี่ยม   

พี่เชื่อว่าน้องๆหลายๆคนมาอยู่ตรงนี้ด้วยความตั้งใจและยังมีอีกหลายคนที่มาอยู่ตรงนี้ด้วยความบังเอิญหรืออะไรก็ตาม ก็อยากบอกน้องๆทุกวิชาเอกว่าถึงแม้จะไม่ได้ในสิ่งที่รักก็จงรักในสิ่งที่ได้และทุ่มเทไปกับมันแล้วคุณจะหลงรักใวิชาเอกของคุณ 

สุดท้ายนี้ขอให้น้องๆ นิสิตปีการศึกษาใหม่จงภูมิใจที่ได้เข้ามาเป็นศิษย์รุ่นปัจจุบัน พี่เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าสถาบันแห่งนี้จะสามารถให้ความรู้ ความเข้าใจและประสบการณ์กับน้องๆ ได้เป็นอย่างดี อย่าลืมว่าเมื่อเรามีโอกาสเข้ามาแล้วเราจะต้องตั้งใจทำทุกอย่างให้ออกมาดีที่สุด ไม่ว่าน้องๆ จะเลือกเรียนในสาขาวิชาใด จงจำไว้ว่าทุกสาขาวิชามีความยากง่ายแตกต่างกันออกไป ขอแค่เรารักและทุ่มเทกับมัน ทำทุกอย่างให้เต็มความสามารถ เพื่อที่จะได้รับความรู้และประสบการณ์อย่างเต็มที่ อย่าหลงระเริงไปกับสิ่งยั่วยุที่มีอยู่มากมาย จงตระหนักอยู่เสมอว่าตนเองมีหน้าที่ที่จะต้องศึกษาหาความรู้ เพื่ออนาคตของตนเองและความภาคภูมิใจของบิดามารดา  

                                                                              นส.อรไท เอกพัฒนาชุมชน ปี 4 



วันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

The Series: 2 years of experiences in HUSO, TSU (Amir)





Hiiiiiiii ผมอามีร นิสิตหลักสูตรศศ.บ.ภาษาอังกฤษ เมื่อพูดถึงชีวิตระหว่างเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย หลายๆคนก็มีจุดมุ่งหมายและการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน เริ่มแรกตอนจบม.6 ผมไม่เคยคิดจะต่อด้านภาษาเลยเพราะผมชอบวิทยาศาสตร์แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นโชคชะตาก็กำหนดไว้ว่าภาษาคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผม ตอนเข้ามาอยู่ในมหาลัยแรกๆนะกลัวมาก(ก.ไก่ล้านตัว) เพราะเรามาอยู่ในสังคมใหม่และที่สำคัญคือการเรียนในด้านทีทเราไม่ได้ถนัดมากมายนั้นก็คือภาษาอังกฤษ
วันแรกของการเรียนการสอน(จำวันที่และเดือนไม่ได้มันนานแล้ว55555) ผมบอกกับตัวเองว่าฉันต้องได้ดี(ไม่ใช่เกรดDน่ะ) ประสบความสำเร็จและจบที่นี่ด้วยประสบการณ์ที่หลากหลาย

ดังนั้นสิ่งที่ผมทำคือ
1- ตั้งใจเรียนเท่าที่ตัวเองจะทำได้ 2- ต้องไม่ปิดโอกาสตัวเอง(อันนี้สำคัญมากกกก) ระบบการเรียนของมหาวิทยาลัยแตกต่างจากมัธยมเพราะไม่ได้เรียนเช้าและเสร็จเย็นทุกวัน(แต่เสร็จคำ่ฮ่าๆๆๆๆๆ) ที่ชอบสุดคือการมีพี่รหัส,พี่เทคและพี่ปู่ย่าตายายต่างๆ ซึ่งผมชอบมากเวลาได้กินของฟรี! แต่ที่สำคัญคือผมสามารถปรึกษาหรือระบายกับพี่เขาได้เวลาเราไม่สบายใจ (อ.ที่ปรึกษาก็ไประบายได้นะแต่ผมเชื่อว่าหลายๆคนไม่ค่อยกล้า55555) และกิจกรรมในเอกและอื่นๆนิชอบมากๆๆเพราะเราจะได้รู้จักพี่เพิ่มและสนิทกันมากขึ้น
เวลาเรียนในห้องผมจะพยายามตอบอาจารย์ทุกคำถามไม่ว่าจะตอบถูกหรือไม่ก็ตามเพราะผมเชื่อว่ามันจะช่วยพัฒนาเราทางอ้อมซึ่งมันช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ตัวเองเป็นอย่างมาก(พื้นเพก็เป็นคนมั่นใจอยู่แล้ว55555) เอาจริงๆหลายๆคนมองข้ามเรื่องแบบนี้นะแต่มันช่วยได้เยอะเลยทีเดียวเชียว เช่นตอนผมไปแลกเปลี่ยนผมต้องแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้เข้าร่วมซึ่งมันช่วยได้เยอะจริงๆแกร!
ในส่วนของกิจกรรมพัฒนาศักยภาพ(ที่จริงจะเอาไปใส่ในเรซูเม่5555) ผมก็พยายามทำงานที่หลากหลายนะ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมภายในคณะ มหาวิทยาลัย หรือองค์กรภายนอก เช่น



- International buddy program - แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่อินโดนีเชีย(อันนี้ลอบมากกกกกก555) - เป็น volunteer ทำงานต่างๆ - นักกีฬา (วอลเลย์บอลเพราะเล่นตั้งแต่เด็กๆ) - กองสันทนาการ - สมาชิกองค์การนิสิต - สมาชิกชมรมมุสลิม - IMT-GT program (อันนี้จะไปต้นเดือนหน้า ณ Medan, Indonesia) - stuff NJ spelling competition - ผู้ประสานงานกีฬาไทย-มาเลเซีย - ผู้ประสานงานการแข่งขันโอลิมปิกดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ระดับนานาชาติ (อันนั้ล่าสุดเลยเพราะพึ่งประกาสผลเมื่อเดือนที่แล้วดีใจมากกกกก) เป็นต้น
#ผมพยายามเลือกกิจกรรมที่ต้องใช้ภาษาเพราะจะได้พัฒนาทักษะภาษาตัวเองไปด้วย(ดูดี้ดูดี้)

กิจกรรมทั้งหมดที่ทำมันสอนให้ผมรู้จักที่จะใช้ชีวิตและเรียนรู้ถึงความหลากหลายของมนุษย์บนโลก อีกทั้งยังทำให้ผมเติบโตมากขึ้นในทุกๆวัน

#กิจกรรมจะทำให้เราเติบโตอย่างเข้มแข็ง

วันพฤหัสบดีที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ฉงชิ่ง: จากมุมที่มองเห็น (transport)




เพราะความสวยและความร้อนไม่เข้าใครออกใคร
รถที่นี่น่าจะทำความเร็วได้ไม่มากนัก เนื่องจากมีร่มรั้งเอาไว้ นอกจากร่มแล้ว บางคันมีผ้าลักษณะเหมือนผ้าห่มที่เอามือสวมเข้าไปได้ด้วย (ส่วนผ้าที่เหลือก็จะคลุมขา) หากเป็นที่ญี่ปุ่นรถแบบนี้จะถือว่าผิดกฎ เนื่องจากติดตั้งอุปกรณ์เกินได้รับอนุญาต
และจากการสังเกตมาหลายวัน คนที่นี่ขี่มอเตอร์ไซค์ไม่ค่อยสวมหมวกกันน๊อค ไม่รู้เพราะกฎหมายไม่เคร่งครัดหรือเปล่า (ช่างเหมือนเมืองไทยยิ่งนัก ไม่ค่อยสวมหมวกกันน๊อค เวลาชาวต่างชาติมาเที่ยว สิ่งแรกที่ถามคือ "ไม่สวมหมวกกันน๊อคก็ได้เหรอ" เอิ่ม จะตอบเยี่ยงไร

เมื่อชาวต่างชาติเริ่มเห็นการซ้อน 3 ซ้อน 4 คำถามเหล่านี้ก็เริ่มหมดไป 55 Thailand ONLY

28.6.2560