วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ประสบการณ์อาสาฯต่างแดน : ลาว




ดิฉันมีโอกาสไปสอนภาษาอังกฤษที่ Soutsaka College of Management & Technology ณ เวียงจันทน์ ประเทศลาว ร่วม 5 สัปดาห์ในช่วงปิดเทอม พศ.2557 นอกเหนือจากงานสอน เป้าหมายหลักอีกอย่างหนึ่งคือการพัฒนางานกิจการนิสิตของวิทยาลัยโดยเฉพาะการปลูกฝังด้านจิตอาสา นิสิตที่ลาวน่ารักมาก เมื่อชักชวนพวกเขาทำงานบำเพ็ญประโยชน์ พวกเขากระตือรือร้นและเต็มใจเข้าร่วมเป็นอย่างดี พวกเราคิดกันว่าจะทำงานอาสาสมัครทุกวันศุกร์ (เนื่องจากการเรียนที่นี่แบ่งเป็นภาคเช้า ภาคบ่าย ภาคค่ำ นิสิตอาสาสมัครจึงสะดวกทำงานวันศุกร์ตอนเช้า)  




สถานที่แรกที่ไปคือหมู่บ้านเด็ก SOS สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า พวกเราใช้เวลาเล่นกับน้องๆวัยเตรียมอนุบาล ทั้งวาดรูป ระบายสี เกมส์ ทำสติ๊กเกอร์ติดกระจก น้องๆและพี่ๆอาสาฯทำกิจกรรมร่วมกันอย่างสนุกสนาน หรือแม้แต่ตัวดิฉันที่เพิ่งจะมีโอกาสได้ทำสติ๊กเกอร์ติดกระจกเป็นครั้งแรกในชีวิต  





หลังจากจบการทำกิจกรรมครั้งที่ 1 อย่างชื่นมื่นพร้อมเสียงเรียกร้องจากน้องๆให้พวกเรามาเยี่ยมอีกและนิสิตอยากมาเยี่ยมน้องๆอีก  พวกเราก็เริ่มการทำกิจกรรมที่ 2 ที่สมาคมเพื่อเด็กออทิสติก กิจกรรมของพวกเราคราวนี้ต้องคิดอย่างระมัดระวังเพราะน้องๆเป็นเด็กพิเศษที่สมาธิอาจจะสั้น กิจกรรมเลยต้องกระชับกันน้องๆเบื่อ เลยเป็นการร้องๆ เต้นๆซะส่วนใหญ่ เพราะน้องๆหลายคนอยากโชว์ความสามารถด้านนี้








กิจกรรมครั้งที่ 3 พวกเราคิดการใหญ่ร่วมจัดบู๊ทในงาน International Children's Day บู๊ทของพวกเรามีการระบายสีภาพด้วยทรายสี การระบายสีกระเป๋าผ้า และ face painting (ภาษาลาวเรียกว่า “การแต้มหน้า”) งานวันเด็กน้อยสากลที่ลาว คล้ายๆกับของไทย คือมีผู้ใหญ่ใจดีจัดบู๊ทเพื่อให้เด็กๆได้ร่วมสนุก  กิจกรรมของบู๊ทพวกเราโดยเฉพาะการแต้มหน้าได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม เด็กๆมาต่อคิวยาวเหยียด พี่ๆหลายคนไม่เคยฝึกแต้มหน้ามาก่อน ก็มาทำจริงกันเลยในวันนั้น ส่วนดิฉันไปหัดแต้มหน้ามาก่อน 1 วันแต่เกรงว่าจะทำหน้าเด็กๆเลอะ เลยเลือกจะช่วยด้านการระบายสีภาพด้วยทรายแทน แอบมองเด็กน้อยด้วยสายตาอยากได้หน้าตาแฟนซีอย่างพวกเค้าบ้าง เพราะงานนี้เป็นที่รวมของซุปเปอร์แมน เซลล่ามูน ผีเสื้อ ดอกไม้ ฯ เลยทีเดียว




การได้ทำงานอาสาสมัครร่วมกับนิสิตลาว ทำให้ได้เรียนรู้ว่าคนวัยหนุ่มสาวของลาวก็เหมือนวัยรุ่นทั่วไปที่อาจจะยังไม่ได้นึกถึงการบำเพ็ญประโยชน์สักเท่าใดนัก แต่หากเมื่อพวกเค้าได้ใช้พลังหนุ่มสาวไปกับการบำเพ็ญประโยชน์และเห็นความสุขของเด็กน้อย มันทำให้พวกเค้ามีความภูมิใจในตนเองที่ได้ทำตัวมีประโยชน์ และเห็นคุณค่า ความสามารถของตนเอง ดิฉันอยากเห็นภาพเยาวชนหนุ่มสาวของทุกประเทศมองการทำงานบำเพ็ญประโยชน์ เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ไม่ได้มองแยกส่วนจากการเรียนในห้องเรียน งานอาสาจะเปิดโลกกว้างให้เราได้เรียนรู้ชีวิตจริง และใช้ศักยภาพของตัวเราในการทำงานเพื่อผู้อื่น

 -----------
หมายเหตุ: เขียนเพื่อลงจุลสาร HUSO MAX ของคณะมนุษยศาสตร์ ฉบับต้อนรับเปิดเทอม
--------------
อ.นก
ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิต / อาจารย์ทีปรึกษาองค์การนิสิตฝ่ายบำเพ็ญประโยชน์

รางวัล The Public Service Award, Hubert H. Humphrey Fellowship 2011-2012, USA