วันอังคารที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2557

วัฒนธรรมอาหารผ่าน Potluck Party

วัฒนธรรมอาหารผ่าน Potluck Party







                                                                                                                         



“สุดสัปดาห์นี้จะมีงานเลี้ยงอาหารแบบ Potluck Party นะ”

หลังจากได้รับทุนฟุลไบรท์มาอบรมและเรียนที่อเมริการ่วมกับเพื่อนอีก 11 ประเทศ
เข้าเดือนที่ 2 ผู้ประสานงานชาวอเมริกันก็ประกาศให้ทราบว่าถึงเวลาที่พวกเราจะรู้จักกันให้มากขึ้นผ่านอาหารของแต่ละชาติ ฉันเคยรู้เรื่อง potluck party มาบ้างจากการอ่านหนังสือเกี่ยวกับวัฒนธรรมอเมริกา แต่นี่จะเป็นครั้งแรกที่ฉันจะมีประสบการณ์ potluck party แบบเต็มตัว ตื่นเต้นๆปะปนไปกับความรู้สึกว่าจะทำอาหารไทยอะไรดี ที่ไม่ยุ่งยากและหาส่วนผสมได้ง่ายในเมือง State College, รัฐเพนซิลวาเนีย ทำแล้วเพื่อนต่างชาติจะกินได้มั๊ย แถมคนที่นี่ก็เคยได้ยินชื่อเสียงอาหารไทยว่าอร่อยนักหนา แอบกังวลว่าอาหารที่ฉันทำพวกเค้าจะทานได้รึเปล่าเนี่ย

ไม่ได้การละ เห็นทีฉันจะต้องหาความรู้เรื่องงาน Potluck Party และกติกา มารยาทของการร่วมงานสักหน่อยแล้ว “การรู้เขารู้เรา” และ “ When in Rome, do as the Romans do เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องกระพริบเอ๊ยหลิ่วตาตาม” ยังใช้ได้ผลอยู่เสมอ เพื่อฉันจะได้ไม่ทำเปิ่นกับการเข้าสังคมที่นี่





Potluck Party คือวัฒนธรรมการนำอาหารที่ทำมาเองจากบ้านมาทานร่วมกันในสถานที่นัดหมาย อาจจะเป็นบ้าน หอพัก หรือโรงเรียน ตามแต่เจ้าภาพจะกำหนด ปาร์ตี้แบบนี้เป็นที่นิยมมากในหมู่คนอเมริกันเพื่อกระชับความสัมพันธ์ในหมู่เพื่อนฝูงและบุคคลหน้าใหม่ๆในชุมชนนั้นๆ

คำว่า potluck มาจาก pot (หม้อ) + luck (ความโชคดี) ในตอนแรกฉันไม่เข้าใจว่าความโชคดีจากหม้อ มันมาเกี่ยวอะไรกับงานปาร์ตี้ คงเป็นการเอาข้าวหม้อแกงหม้อ (ตามประสาคนไทย) มาทานด้วยกัน เอ๊ะ แล้วคำว่า luck ล่ะ มีที่มายังไง จนไปค้นเจอ

 Potluck: one’s luck or chance as to what may be in a pot

จึงถึงบางอ้อว่ามันหมายความถึงความโชคดีหรือโอกาสของแต่ละคนว่าอาหารอะไรที่อยู่ในหม้อ นัยหนึ่งคือเราอาจจะได้ชิมอาหารที่อร่อยมาก หรืออยากกินอาหาร  homemade ก็จะได้โชคดีคราวนี้ล่ะ
ฉันได้เรียนรู้จาก host family ชาวอเมริกันและข้อมูลจากเว็บไซท์ถึงมารยาทของการร่วมงาน potluck party ว่าเราควรลองชิมอาหารแต่ละอย่างทีละน้อย เพื่อทุกคนจะได้มีโอกาสลองชิมอาหารทั้งหมด และอย่าลืมชมเชยอาหารที่ทานเข้าไปกับผู้ที่นำอาหารมา (บางคนอาจจะเก็บเรื่องอาหารที่ตนจะเอามาเป็นความลับ ในขณะที่บางคนอาจจะมีการบอกเจ้าภาพเพื่อเจ้าภาพจะได้เตรียมภาชนะให้เหมาะกับอาหารแต่ละชนิด)







และแล้ววัน potluck party ที่ฉันรอคอยก็มาถึง ฉันได้เห็นอาหารนานาชาติ 11 ชาติเรียงรายร่วมกับอาหารอเมริกันจากครอบครัว host family เยอะแยะมากมาย ช่างน่าตื่นตาตื่นใจ 
 หลังจากฉันเพียรพยายามฝึกทำผัดไทยมาระยะหนึ่ง ก็ถึงเวลาออกงานได้ซักที ฉันยังทำถั่วเขียวต้มน้ำตาลเป็นของหวานไปร่วมงานด้วย



อ๊ะ เมื่อฉันผละไปช่วยจัดโต๊ะและเตรียมจาน หันกลับมาอีกทีถั่วเขียวต้มน้ำตาลของฉันหายไปไหน ทำไมไม่อยู่ที่ประเภทของหวานล่ะ

 เอ่อมันเลื่อนไปอยู่ที่ main course (อาหารหลัก) ซะงั้น ฉันเพิ่งได้ความรู้ใหม่เมื่อเพื่อนอเมริกันบอกว่าถั่วจัดเป็นประเภทอาหารหลักของอเมริกาและเม็กซิโก ซึ่งกินถั่วเป็นอาหารหลัก โดยการทำเป็นซุป หลังจากเลื่อนข้าวเหนียวถั่วดำกลับสู่ที่ๆมันควรอยู่แล้ว ฉันเลยใช้โอกาสนี้อธิบายให้เพื่อนฟังว่าคนไทยกินถั่วเขียวต้มน้ำตาลเป็นของหวาน คงเหมือนกับตอนที่เพื่อนอเมริกันได้กินข้าวเหนียวถั่วดำเป็นครั้งแรกแล้วบอกฉันว่าเธอไม่เคยรู้ว่าข้าวเหนียวเอามากินกับถั่วได้ด้วย


เรื่องอาหารและวัฒนธรรมอาหารสามารถพูดกันได้ยาวค่ะ
ฉันพบว่าการสนทนาออกรสมากเมื่อมีอาหารเป็นตัวนำทาง แค่การถามเรื่องการทำอาหารชนิดนั้นๆ ก็ทำให้ความสัมพันธ์ของผู้ที่เพิ่งรู้จักกันกระชับมากขึ้นราวกับรู้จักกันมานาน และอาจต่อยอดไปสู่การหัดเรียนรู้การทำอาหารต่างชาติที่ตนสนใจอีกด้วย ข่าวดีคือหลังจากผูกสัมพันธ์จากมื้ออาหารครั้งนี้แล้ว ฉันก็ได้มีโอกาสไปหัดทำอาหารที่อยากทำกับเพื่อนต่างชาติอยู่เนืองๆ ฮูล่า!

อาหารทั้งหลายความอร่อยไม่ได้ขึ้นอยู่กับรสชาติถูกลิ้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับน้ำใจของผู้ทำและการสนทนาระหว่างมื้ออาหาร นั่นล่ะสำคัญกว่าว่ามั๊ยคะ


Laughter is brightest, where food is best.

 (เสียงหัวเราะจะแจ่มใสที่สุดเมื่อได้ทานอาหารรสเลิศ)
                                         – Irish Proverb
 
 







References:
1. potluck. (n.d.). Online Etymology Dictionary. Retrieved April 15, 2014, from Dictionary.com website: http://dictionary.reference.com/browse/potluck



----------------------------------------------------------------------------------------------------

 หมายเหตุ: เราเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อส่งไปเข้าร่วมแข่งขัน I Get English's New Star Project เพื่อหานักเขียนหน้าใหม่ของนิตยสาร จำนวน 3 คน (หากได้รับคัดเลือกจะได้ค่าเรื่อง 2,000 B.) เหนือสิ่งอื่นใดที่มากกว่าค่าเรื่องคือเราใฝ่ฝันจะเขียนเรื่องลงนิตยสารเพื่อเล่าประสบการณ์มานานแล้ว ถึงเวลาซะที (เชิดหน้ามองฟ้า ทำท่ามุ่งมั่น) ที่เราจะลองทำดู หมดเขตส่งเรื่อง 31/5/14 ประกาศผล 15/6/14 

ฮ่าๆ เราจะได้มีเรื่องให้ลุ้นเรื่อยๆ ตลอดปิดเทอม ไหนๆก็มีเวลาช่วงปิดเทอม ทำไมไม่ทำตามฝันซะทีล่ะเนอะ แค่คิดหัวใจก็เต้นแรง เหมือนครั้งที่เราส่งเรื่องไป A Day & ขวัญเรือนเลย :)

จุ๊ๆ ถือเป็นความลับช่วงปิดเทอมของเรา (อิๆ จริงๆแล้วเราก็เอาไปประกาศไว้ใน FB กลุ่มเหมือนกันนะ เผื่อนิสิตคนไหนสนใจ แต่โดยทั่วไป มักเป็นเราที่สนุกสนานและลองไปทั่วอยู่คนเดียว :)

2 ความคิดเห็น:

  1. กลางเดือนหน้าได้ลุ้นกันอีกแล้วสินะ

    ตอบลบ
  2. อิๆ กำลังนับวันให้ถึงวันที่ 16/5/14 เร็วๆ แต่อันนี้ไม่ได้คาดหวังมาก แค่อยากให้มีอะไรให้ลุ้นเป็นรายเดือน รายสามเดือน รายปี ฮี่ๆ

    ตอบลบ